เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการเรียนภาษาญี่ปุ่นนอกตำรา(สำรอง)เจษฎาพร แสวงการ
บันทึกการเรียนภาษาญี่ปุ่นนอกตำรา #7
  • สวัสดีครับ

    ผมยำนาเบะ ผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐบาลธรรมดา ๆ ที่หาได้ทั่วไป

    วันนี้จะมาพูดเกี่ยวกับตำราเรียนภาษาต่าง ๆ ครับ

    อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้หนังสือเรียน อย่างภาษาพาทีกลับมาเป็นกระแสในโซเชียลอีกครั้ง ผมเลยอยากจะเขียนอะไรทำนองนั้นบ้างครับ

    //ว่าแต่ญี่ปุ่นเขามีการไปขอโชยุจากร้านอื่นหรือบริจาคเงินจนหมดตัวบ้างไหมนะ (ฮา)

    .

    ……

    เอาละครับ ก่อนอื่น

    ทุกคนเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมตำราเรียนต่าง ๆ ถึงต้องมีการอัพเดทอยู่เรื่อย ๆ เช่น หนังสือมินนะโนะนิงฮงโกะ ก็มีฉบับใหม่ หนังสือ อากิโกะ ก็มีการปรับปรุงตามยุคสมัย


    เพราะฉบับเก่าภาพมันไม่สวยเหรอ ? มีการพิมพ์ตกเหรอ ?

    ก็อาจจะใช่ครับ แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุหลักครับ

    สาเหตุหลักที่ทำให้หนังสือเรียนต้องมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลานั่นก็คือ

    นั่นก็คือคือออออ…

    ……

    ………

    ……………


    สิ่งของที่ปรากฎแต่งต่างกันตามแต่ละยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางภาษาครับ


    ก่อนอื่น ถ้าถามว่า ‘สิ่งของที่ปรากฎแต่งต่างกันตามแต่ละยุคสมัย’ มันคืออะไร

    มันก็คือสิ่งของรอบตัวเราแหละครับ

    เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์หรืออาจจะเป็นสิ่งของที่ใหญ่ขึ้นไปอย่างรถก็ได้ครับ

    คือสิ่งของพวกนี้มันไม่ได้มีมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี และก็อาจจะไม่ได้อยู่ต่อไปในอนาคตอีกหลายร้อยปีก็ได้ครับ


    ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในยุคนี้ก็ไม่น่าจะมีใครใช้โทรเลขกันแล้ว (ผมเคยเห็นโทรเลขที่บ้านคุณตาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นใครใช้)

    ถ้าถามว่าแล้วคนที่เกิดในยุคสมัยหลังจากนี้จำเป็นต้องรู้จักโทรเลขด้วยเหรอ

    ผมตอบเลยว่า ถ้าไม่ได้กะจะทำงานเฉพาะทางก็ไม่ต้องรู้หรอกครับ

    //ถ้าเก่ากว่านั้นก็อาจจะเป็นเพจเจอร์เป็นต้นไป

    อ้าวแล้วมันเกี่ยวกับการอัพเดทหนังสือเรียนยังไงล่ะ


    คือหนังสือเรียนภาษา ตามพื้นฐานแล้วจะเริ่มจดจำคำศัพท์จากสิ่งใกล้ตัวก่อนครับ 

    ทำให้ผู้เรียนสามารถใช้คำศัพท์นั้นได้ทันทีเพราะมีโอกาสได้ใช้ในชีวิตจริง

    ยกตัวอย่างเช่น スマホ เรียนปุ๊บก็ใช้กับคนญี่ปุ่นได้ทันที

    แต่อย่างที่ผมบอกไปครับว่า สิ่งของเหล่านี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่อดีต

    อย่างในหนังสือมินนะฉบับแรกก็ไม่ได้มีคำศัพท์นี้ครับ

    ฉบับแรก ๆ รู้สึกจะมีคำศัพท์ประมาณ Word Processor เครื่องพิมพ์ดีด อะไรประมาณนี้ครับ

    สมมุติว่าตอนเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นวันแรก ครูที่สอนยังใช้มินนะฉบับแรกอยู่ 

    แล้วเขาสอนคำว่า ワープロ ให้คุณ

    .

    …งงเป็นไก่ตาแตกแน่นอน (ฮา)


    อ่านแล้วก็จะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร

    เรียนศัพท์ไปทำไม?

    เราเป็นแค่คนต่างชาติแท้ ๆ จะรู้ศัพท์พวกนี้ไปทำไม

    ง่าย ๆ ก็คือพอเวลาผ่านไป สิ่งของบางอย่างเราไม่ต้องรู้จักมันก็ได้

    ดังนั้นหนังสือเรียนภาษาต่าง ๆ จึงต้องมีการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ และเพิ่มสิ่งที่ต้องรู้เข้ามาในแต่ละยุคสมัยครับ

    นั่นทำให้เกิดหนังสือเรียน xxx ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2.. 3.. 4… ไปเรื่อย ๆ 


    แต่ว่านอกจากคำศัพท์แล้วก็อย่าลืมนะครับว่า ตัวภาษาหรือไวยากรณ์เองก็มีการเปลี่ยนเหมือนกันครับ

    สิ่งนี้ทางภาษาศาสตร์เราจะเรียกกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางภาษา (言語変化)

    ทุกคนลองนึกภาพตอนที่ตัวเองกำลังเรียนประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาช่วงมัธยมดูก็ได้ครับ

    เวลาเขาคุยกันก็จะแบบ

    แล้วเจ้าจะลาจากเมียหรือ


    คำว่า ‘หรือ’ เนี่ย ตอนนี้ผมไม่คิดว่าจะมีใครใช้แล้วนะครับ

    สมัยนี้ถ้าพูดออกเสียงกันน่าจะเป็น ‘หรอ’

    หรือสำหรับบางคนออกเสียง ‘หรอ’ เฉพาะตอนพูด ส่วนตอนเขียนเป็น ‘เหรอ’

    เห็นไหมครับว่าภาษามันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามเวลาจริง ๆ


    มีอีกตัวอย่างที่ทุกคนอาจจะไม่ทันสังเกต

    ผมคิดว่าคำว่า ‘เพิ่ง’ น่าจะเป็นคนที่หลาย ๆ คนใช้

    ถ้าถามว่าต่างกับ ‘พึ่ง’ ยังไง

    ถ้าคุณเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิต จะขึ้นคำอธิบายของ ‘เพิ่ง’ ครับว่า ‘พึ่ง’

    เพราะฉะนั้นไม่ต่างกันครับ เพียงแต่ทางราชบัญฑิตเขาเห็นว่ามีคนใช้คำว่า ‘เพิ่ง’ เป็นจำนวนมาก

    ทางราชบัญฑิตเลยบัญญัติศัพท์เพิ่มไปครับ


    ถ้าอย่างนั้นผมขอตั้งคำถามกับผู้อ่านทุกท่าน

    คุณคิดว่าทำไมทั้งสองคำนี้ถึงมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาครับ

    .

    ……


    โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า

    เป็นเพราะมันออกเสียงง่ายกว่าครับ


    ไม่ใช่เป็นที่นิสัยของคนในสังคมนั้น ๆ เหรอครับ เช่นคนไทยอาจจะขี้เกียจก็ได้?


    คือถ้ามันเป็นแค่ภาษาเดียวจะคิดอย่างงั้นก็ไม่ผิดหรอกครับ

    แต่ประเด็นคือมันเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ในทุกภาษาครับ


    ลองนึกภาพตอนเราเรียนภาษาญี่ปุ่นชั้นแรก ๆ ดูก็ได้ครับ

    ตอนเราเรียนการผันรูป させられる(รูป使役受身)

    หนังสือเรียนหรือครูผู้สอนก็จะบอกว่าย่อหรือรูป される ได้

    แล้วผมก็คิดว่าหลาย ๆ คนก็น่าจะใช้รูปย่อกันเพราะไม่อยากออกยาว ๆ ใช่ไหมครับ

    ผมคิดว่าลักษณะการเกิดปรากฏการณ์นี้มันมีความคล้ายกันมากในหลาย ๆ ภาษา


    แล้วก็รู้สึกว่าช่วงนี้คนญี่ปุ่นเริ่มจะมีปรากฏการณ์ 「ら抜き言葉」เกิดขึ้น

    มันคือการที่ไม่ออกเสียง ら ในเมื่อผันกริยารูปสามารถ (可能形)

    เช่น 見られる กลายเป็น 見れる

    来られる กลายเป็น 来れる


    ที่มาของรูป ら抜き ก็คือ

    มีคนจำนวนหนึ่งมองว่าภาษาญี่ปุ่นมีการผันแล้วออกเสียง られる เยอะมาก

    เช่น 1.รูปสามารถ(可能形)ก็ผันเป็น られる ได้ เช่น 食べられる สามารถกินได้

    2.รูปถูกกระทำ (受け身)ก็ผันเป็น られる ได้ เช่น 食べられる ที่หมายถึง ถูกกิน

    3.รูปยกย่อง (尊敬)ก็ใช้รูป受け身เหมือนกัน เช่น 先生は私の名前を呼ばれた。= อาจารย์เรียกชื่อฉัน
    =เป็นการยกย่องอาจารย์ที่เรียนชื่อฉัน


    ดังนั้นถ้าเราตัด ไม่พูด ら ในรูปสามารถ(可能形)เวลาฟังเราก็จะสับสนน้อยลงว่าผู้พูดกำลังใช้การผันรูปไหนอยู่


    —-------------------------------------------


    แต่ว่ารูป ら抜き เนี่ย

    ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากสักเท่าไรครับ

    ในอนาคตก็อาจจะเป็นที่แพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องปกติเหมือน させられる(รูป使役受身)ก็ได้ครับ

    ไม่ว่าอย่างไรภาษาก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว


    อนาคต ในหนังสือเรียนเราอาจจะเห็นการบัญญัติรูป ら抜き เพื่อใช้ในรูปสามารถ(可能形)ก็ได้ครับ

    และถ้าเวลานั้นมาถึงพวกเราก็อาจจะอายุมากแล้ว

    พยายามไปกดดันว่าการพูดแบบนี้มันผิด ! これは正しい日本語じゃない อะไรแบบนี้นะครับ

    (หรือจะพูดก็ได้ถ้ามันขัดใจจริง ๆ (ฮา))


    แต่ผมคิดว่าภาษาไทยเองก็มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้อยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกันครับ


    ถ้าอย่างนั้นแล้วเรามาสรุปเนื้อหาวันนี้กันอีกครั้งดีกว่า


    ถ้ามีคนพูดให้ฟังวา ‘โอ้ย ตำราเรียนจะอัพเดทบ่อยอะไรขนาดนั้นนนน เอาเก่าดีกว่า’

    ก็ลองอธิบายให้เขาฟังนะครับว่า

    ตำราเรียนเขาต้องอัพเดทศัพท์รอบตัวนะ

    อย่างในยุคสมัยนี้ถ้าตำราเรียนยังสอนคำศัพท์เครื่องword processor อะไรแบบนี้อยู่

    ออกนอกห้องไปผู้เรียนเขาก็ลืมแล้ว


    แถมโลกเรายังมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาอยู่ตลอดเวลาด้วยนะ

    ทุกวันนี้เราไม่พูด ‘หรือ’ ในประโยคคำถามกันแล้วใช่ไหม

    ภาษาอื่นก็เหมือนกัน

    ตำราจากยุคสมัยไหนก็ใช้ได้แค่ในยุคสมัยนั้นเท่านั้นครับ


    อ๊ะ แต่เวลาอธิบายอย่าลืมใช้นำเสียงเรียบ ๆ อย่าให้เขาโกรธกันด้วยล่ะ (ฮา)


    —------------------------------------------------------


    เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเนื้อหาในวันนี้

    จริง ๆ ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียนเนื้อหายาวขนาดนี้หรอกครับ

    แต่เขียนไปเขียนมามันเพลินไปหน่อย (ฮา)

    ถ้าใครมีความเห็นอะไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้เลยนะครับ

    ผมจะตามอ่านอยู่เสมอ


    ถ้าอย่างนั้นแล้ว 

    ไว้พบกันใหม่นะครับ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
ภาษาเปลี่ยนตลอดเวลา!