ทั้งโรงเงียบและอึ้งสักพักหลัง End Credits ขึ้นช้าๆ บนจอ พอรู้สึกตัวก็ถกกันว่า ยอร์กอสไม่ทิ้งลายสไตล์ตลกร้ายของเฮียแกจริงๆ หนังยังคงเป็นการเสียดสีธรรมชาติด้านมืดของมนุษย์ ในโลกเนิบๆ ไร้อารมณ์ ที่แต่ละการกระทำ สายตา และปฏิสัมพันธ์ของตัวละครทำให้ประเด็นของบทที่พยายามจะสื่อเด่นชัดขึ้น เป็นตลกหน้าตายที่แฝงด้วยนัยในเกือบทุกรายละเอียดของหนัง
ยอร์กอสขึ้นชื่อในการเสนอหนังให้ผู้ชมและนักแสดงของเขาโดยไม่เปิดเผยอะไรเพิ่มเติม ปล่อยให้กลับไปคิดและตีความกันเอาเอง ซึ่งตีความได้หลากหลายมาก เราอยากจะยึดตามที่ยอร์กอสพูดไว้ว่า สามารถตอบคำถามเรื่องงานของเขาได้ แต่อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง หรือคำตอบเพียงหนึ่งเดียว
เริ่มที่เรื่องผิวๆอย่างชื่อตัวละคร ซึ่งพอมาวิเคราะห์หลังดูหนังแล้วแปลกใจเลยทีเดียว ยอร์กอสแฝงอะไรๆไว้ในบทอีกละ ถึงกับซึ้งว่าชื่อนั้นสำคัญไฉน เป็นการบอกลาง (foreshadowing) ที่เจ๋งดีก็คราวนี้ด้วย
มงกุฏจะคู่กับอะไรไปไม่ได้ นอกจากตำแหน่ง 'พระราชา' ที่สตีเว่นเป็นในโลกและครอบครัวที่แสนสมบูรณ์แบบของเขาในต้นเรื่อง ในฐานะศัลยแพทย์ เขาเป็นทั้งผู้ชี้เป็นชี้ตายของคนไข้ อย่างพ่อของมาร์ติน และในบ้าน เขาเป็นผู้ออกความคิด ตัดสินใจที่เป็นใหญ่ มีอำนาจ เป็นคนควบคุมทุกสิ่งในชีวิต จนกระทั่งเด็กอย่างมาร์ตินก้าวเข้ามา
(เรื่องการเสียสละ 'ชีวิต' ของลูกเพื่อ 'ส่วนรวม' ที่ดูเหมือนทำให้สตีเว่นเป็น 'นักบุญ' หรือ 'พระเจ้า' ในโลกของเขา เป็นประเด็นที่เราจะกล่าวถึงในส่วนต่อมาของบทความค่ะ)
มาร์ตินของยอร์กอสเป็นที่น่าหวาดกลัวพอกัน เพราะพรสวรรค์ของแบร์รี่ เคียวแกน ที่สามารถผสานความไร้เดียงสา ตรงไปตรงมาในเด็กหนุ่มกับความร้ายลึกได้อย่างแนบเนียน เด็กหนุ่มเป็นตัวปัญหาที่โผล่มาสร้าง 'สงคราม' ภายในชีวิตที่สมบูรณ์แบบแค่ภายนอกของสตีเว่นแท้ๆ
4. คิม (Kim) - ลูกสาววัยแรกแย้มของสตีเว่น ที่ยกชื่อนางมาก่อนชื่อบ๊อบตัวน้อยก็เพราะหลังแปลแล้ว ชื่อนางถือว่าเป็นคู่กับมาร์ตินจริงๆ (ขอหลับตานึกถึงฉากสุดท้ายของหนังแป๊บ--)
นางเป็นถึงลูกสาวของ 'พระราชา' ในเรื่อง จะไม่เป็นผู้ดี มีตระกูล สูงศักดิ์ได้อย่างไร ความกล้าหาญนี่ต้องยกให้กับช่วงหลังๆ ของเรื่องที่นางกล้าออกปากบอกให้พ่อเอาชีวิตไปจากตัวเองซะ ด้วยอ้างความรักที่มีต่อพ่อและน้องชาย แต่ความหมายที่เกี่ยวข้องกับสงครามนี่สื่อบทบาทของนางที่ต้องเกี่ยวพันกับมาร์ติน แอบชอบและอยากช่วย เหมือนผู้นำทัพในสงครามจะต้องบูชาเทพเจ้าแห่งสงครามก่อนออกรบ ก็นึกถึงฉากที่นางคลานไปจุดบุหรี่ให้มาร์ตินผู้นั่งอยู่สูงกว่าสูบ และขอร้องให้เขาทำให้เธอดีขึ้นสิ
ถ้ายึดการตีความที่ว่าสตีเว่นเป็นพระเจ้า และบ๊อบเปรียบเสมือนพระเยซูแล้ว เด็กชายคือดวงไฟ คือแสงสว่างนำทางของครอบครัว หากหลังจากฉากสะเทือนขวัญ Climax ของเรื่องแล้ว แสงสว่างของครอบครัวนี้ก็ดับมอดลงด้วยมือของหัวหน้าครอบครัว ผู้เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมที่ทำครอบครัว 'สมบูรณ์แบบ' ครอบครัวนี้พังจนไม่เหมือนเดิม
เพราะความหมายอิงศาสนาขนาดนี้ ขอตามการตีความเดิม (แต่หลวมๆ เพราะดูความหมายยังไม่เกี่ยวข้องโดยตรง)ว่าเพื่อนของสตีเว่นเปรียบเหมือนผู้ช่วยพระเจ้า ผู้ให้ข้อมูลแก่ครอบครัวเมอร์ฟีย์ คอยปลอบโยนแอนนาเมื่อสตีเว่นไม่อยู่ ตอนที่ได้ข่าวเรื่องคิมป่วย แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนโดยตรง
หลังจากรวบรวมการตีความและบทพูดจากหนัง เราสรุปประเด็น (เรื่องเด่นๆ ไม่ใช่ธีม) ของ The Killing of a Sacred Deer (2017) ที่สังเกตเห็นรายละเอียดจนเจาะลึกได้ดังนี้:
- เรื่องราวเปรียบเปรยความเป็น 'พระเจ้า' ในชีวิต ระหว่างสตีเว่น และ มาร์ติน (Playing God)
- ความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างสตีเว่น และ มาร์ติน ที่หนังไม่เคย (และไม่คิดจะ) อธิบาย (Relationship Dynamics)
- สถานะการเป็น 'พ่อ' เป็นผู้นำ หรือหัวหน้าครอบครัว (Father Figure, Head of Household) และการแสดงความเป็นชาย (Display of Masculinity)
- คำคมวรรคหนึ่งจากผู้รู้ของกระทู้ใน reddit ที่กล่าวถึงตัวหนังไว้ได้งดงามในสไตล์ตำนาน (Mythological Thinking)
You're The Master of My Fate: Playing God
บทความรีวิวหนังของ แอนโทนี เลน นักวิจารณ์หนังไอดอลของเรา ในนิตยสาร
New Yorker ตั้งคำถามว่า หากสตีเว่นเป็นพระเจ้าในชีวิตของเขาและคนรอบข้าง แล้วมาร์ตินเล่นบทบาทเป็นอะไร
คำใบ้และรายละเอียดในหนังของบทบาทตัวละครนำทั้งสองเห็นได้จากเพลงประกอบหนัง (Soundtrack) และ การเปรียบเทียบตัวละครนำกับอวัยวะสำคัญในร่างกาย (ยังคงคอนเซ็ปต์ของโปสเตอร์ที่ปล่อยมาโปรโมทหนัง)
What Kind of Music Are You Into? : Insights from Soundtrack
1. Diegetic Sound - เพลงประกอบหนังที่เกิดจากตัวละครหรือสิ่งของในโลกของหนัง
ตอนอยู่ในวงประสานเสียงสมัยมอปลาย เราคิดเสมอว่าเพลง Carol of the Bells น่ะให้อารมณ์หลอนสุดๆในบรรดาเพลงคริสมาสต์ด้วยกันเพราะเสียงคล้ายออกไปโทนไมเนอร์ มีเสียงประสานของโทนต่างๆที่ต่ำกว่าเสียงโซปราโน (Soprano - เสียงสูงสุดในสี่เสียงของวงประสานเสียง)ของคิม ทั้งเสียงอัลโต้ (Alto - มักจะเป็นผู้หญิงเสียงต่ำ) และ เบส (Bass - ผู้ชายเสียงต่ำ) ร้องประสานคำว่า 'ดิงดอง ดิงดอง' แทนเสียงกระดิ่ง ขณะโซปราโนร้องเนื้อเพลงหลัก
สำหรับเรา การร้องแบบนี้ทำให้เพลงฟังดูเหมือนไปในสองทิศทางพร้อมๆ กัน ทั้งเสียงสูงที่ลอยตัวเหนือทั้งเพลง และเสียงต่ำหนักที่ค่อยๆดิ่งลงๆ -- ยังกับสวรรค์กับนรก...
เราถึงกับหัวเราะออกมาพอได้ยินวงประสานเสียงของคิมร้องเพลงนี้ แน่สิ ยอร์กอส ถ้านึกจะเลือกเพลงคริสมาสต์เพลงใดก็ต้องเป็นเพลงที่ทำให้นั่งไม่ติดเก้าอี้แม้จะเป็นเทศกาลแห่งเพลงรื่นรมย์!
ว่ากันว่า ในพิธีกรรมของคนนอกศาสนา (Pagan rituals) การสั่นกระดิ่งคือการไล่ตัวมาร (devil) ออกไป และ(อาจเป็นการตีความไกลไปนิดแต่)การที่คิมล้มลงกลางเพลงนี้ก็เหมือนการพ่ายแพ้ต่อตัวร้ายอย่างมาร์ตินที่เข้ามาคุกคามครอบครัวเมอร์ฟีย์อย่างสมบูรณ์
ส่วนเพลง Burn เราวิเคราะห์ไปโดยเทียบกับกลอนเกริ่นนำบทละคร Iphigenia At Aulis
ที่นี่ค่ะ
2. Non- Diegetic Sounds เพลงประกอบหนังที่ไม่ข้องเกี่ยวกับโลกของหนัง
ประสบการณ์การดูหนังคือการละจากโลกแห่งความจริงของเราไปชั่วขณะหนึ่ง เพื่อเข้าสู่โลกจากมุมมองของผู้กำกับ โดยคนดูยินยอมเซ็นสัญญาเพื่อเชื่อในทุกอย่างในโลกที่ผู้กำกับนำเสนอ สัญญาที่เรียกกันว่า "Suspension of Disbelief" ซึ่งโดยเฉพาะใน The Killing of a Sacred Deer (2017) ยอร์กอสใช้เพลงประกอบหนังในการเชื้อเชิญคนดูเข้าในโลกเนิบๆของเขา และให้สัญญาณเพื่อส่งคนกลับสู่โลกแห่งความจริงเช่นกัน เรียกว่าเพลงประกอบในหนังเป็นการเปิด - ปิดเรื่องทางดนตรี (musical/operatic bookends)
หลายคนที่ไปดูมักบอกว่า
เพลงประกอบประโคมดังมาก เราคิดว่ายอร์กอสต้องการสร้างอารมณ์ดังหนังของเขาเป็นละครเวทีชีวิตสอนใจอันยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่ง เมื่อเปิดเรื่อง เพลง “Jesus Christus” (Schubert’s Statbat Mater in F Minor) ก็เล่นประมาณระยะหนึ่งท่ามกลางความมืดของหน้าจอ และให้อารมณ์เหมือนเพลงเกริ่น (Overture) ละครก่อนม่านจะขึ้นยังไงยังงั้น ชื่อเพลงก็บอกคนดูโต้งๆ ว่าสตีเว่นเป็นพระเจ้าที่เสียสละลูกชายเพื่อไถ่บาปของเขา เพื่อให้ทุกสิ่งกลับดีขึ้นอีกครั้ง เพลงเดียวกันเป๊ะๆ ยังเล่นทันทีที่บ๊อบตายด้วยมือสตีเว่นในการคลี่คลายของฉาก Climax ด้วย
ที่เจ๋งกว่านั้นคือเพลงสุดท้ายของหนัง St. John’s Passion โดย Bach เพลงเกี่ยวกับการถูกตรึงบนไม้กางเขนของพระเยซูจากมุมมองของนักบุญจอห์น การบรรเลงเพลงในไดเนอร์ และเริ่มบทร้องภาษาเยอรมันจังหวะที่คิมหยิบเฟรช์ฟราย อาหารโปรดของมาร์ตินขึ้นกินต่อหน้าเด็กหนุ่ม สะท้อนถึงการที่มาร์ตินกลายเป็นเจ้าชีวิต และผู้ควบคุมทิศทางของครอบครัวเมอร์ฟีย์ แทนสตีเว่น เพราะเนื้อเพลงนั้นแปลว่า "พระเจ้า พระเจ้า พระเจ้า ท่านคือเจ้าชีวิตของเรา ท่านคือเจ้าชีวิตของเรา ท่านผู้ชื่อได้รับความเคารพเชิดชูทุกถิ่นไป" ("Lord, Lord, Lord, Thou our Master, Thou our Master, Thou whose name in every land is honored, is honored everywhere.")
แอบ
ตลกนิดนึงกับความเงียบแบบไม่ทันตั้งตัวของหนังหลังเพลงเปิดเรื่อง ที่จู่ๆ สตีเว่นกับแมตทิวเดินคุยกันตามทางเดินของโรงพยาบาลที่ไร้เสียงอื่น เหมือนฟองสบู่ครอบคลุมโลกที่อยู่กันเพียงสองคน เหมือนการดูดเสียงดังโอเปร่าออกทันทีที่ภาพตัดมานอกห้องผ่าตัด เพราะหลังถอดเครื่องมือและหน้ากาก ก้าวออกมาแล้ว สองคนก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา (ในมุมมองของ 'กล้อง' ที่เหมือนอีกบุคคลผู้จับตามองตัวละครในโลกนี้อยู่ตลอดเวลา) ที่พูดคุยกันเรื่องเรียบง่ายอย่างนาฬิกาข้อมือเท่านั้น
อีกเสียงหนึ่งที่เด่นในหนังคือเสียงกรีดแหลมแสบแก้วหูที่ดังขึ้นพร้อมๆกับ มาร์ติน หรือเป็นลางบอกใบ้ถึงการปรากฏตัวของมาร์ติน ขณะที่ตัวละครอื่นยังไม่รู้ตัว เสียงประจำตัวเด็กหนุ่มคือ "Sonata Et Exspecto" ประพันธ์โดย Janne Rättyä เป็นเสียงที่ไม่ยอมห่างไกลจากหนัง คอยกลับมาเรื่อยๆ (a lingering presence) เหมือนตัวเด็กหนุ่มเอง
โดยคำละติน "Et Exspecto" ถึงจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อหนัง ก็ไปตรงกับชื่อยาวๆ "Et exspecto resurrectionem mortuorum (And I await the resurrection of the dead - และข้ารอคอยการคืนชีพของผู้จากไป)" เพลงดังของ Olivier Messiaen (1964) ตรงนี้เราวิเคราะห์ได้แค่ว่า เพลงของมาร์ตินนั้นสื่อการ 'รอคอย' อะไรสักอย่างของเด็กหนุ่ม ซึ่งอาจเป็นการคลืบคลานเข้ามาในครอบครัวเมอร์ฟีย์ เพื่อการชิงตำแหน่ง 'พระเจ้า/เจ้าชีวิต' ในฉากจบ ที่เพลง St. John’s Passion บรรเลงถึงชัยชนะของการรอคอยครั้งนี้ก็เป็นได้
เรียกว่ายังไม่ทันได้เห็นหน้าหลอนๆ ของมาร์ติน พอได้ยินเสียงนี้ซ้ำๆ (Motif) เราก็เตรียมใจกลัวเด็กหนุ่มไว้ก่อน
โดยละเอียด เสียงปรากฎตัวในฉากดังนี้:
a. เมื่อมาร์ตินปรากฎตัวในโรงพยาบาลพร้อมกับสายหนังสีน้ำตาลใหม่ตามใจตัวเอง (มีคนวิจารณ์ว่ามาร์ตินคิดเรื่องสายนาฬิกาเกินเด็กวัยเขา) ตรงนี้ยอร์กอสเปิดเผยความสัมพันธ์ของทั้งสอง ที่ดูใกล้ชิด มีพิรุธ กระวนการวาย (จากฝ่ายสตีเว่น) บ้างบอกว่ามาร์ตินจงใจแกล้งมาปรากฏตัวในเวลาที่จะทำให้เพื่อนและคนรอบข้างของสตีเว่นสังเกตเห็นตัวเอง
มาร์ตินพูดกับสตีเว่นว่า "ผมไม่ได้ตั้งใจทำให้คุณอึดอัดนะ" ("I didn't mean to put you in an awkward position.") ซึ่งเป็นคำๆเดียวกับที่แม่ของตัวเองใช้พูดกับสตีเว่นหลังพยายามแทะโลมและแทะเล็ม(มือสวยๆของ)ศัลยแพทย์คนนี้: "ฉันขอโทษถ้าทำให้คุณรู้สึกอึดอัด ฉันไม่ได้ตั้งใจ" ("I'm sorry if I make you feel awkward. I didn't mean to.")
อื้อหือ เป็นครอบครัวที่มาพร้อมกับคำว่า 'อึดอัด' ทั้งแม่ลูก ที่ติดตาและใจของคนดูออกจากโรงไปเลยค่ะ
แถมตอนเจอกันมาร์ตินยังมีการหยอกถามสตีเว่น (ในขอบเขตของโลกเนิบๆของหนัง) หลังอีกฝ่ายชมสายใหม่ว่า "จริงหรอ หรือคุณพูดไปงั้นเอง" ("You really think so, or are you just saying that?") สตีเว่นถึงต้องปลอบว่า "มันสวยดี" ก่อนจะกำชับว่ามาร์ตินจะเสียเวลามารอเขาเก้อเปล่าๆ ถ้าเขามาหาไม่ได้ และที่บอกอย่างนี้ก็เพื่อตัวมาร์ตินเอง (“There’s no point in you waiting if I can’t see you. It’s for your own good.”)
... เป็นอะไรกันแน่คะ สองคนนี้!
โทนการสนทนา แม้จะเป็นการพูดบทที่ทื่อๆ สไตล์ยอร์กอส ก็ยังทำให้คำที่ทั้งสองฝ่ายพูดชัดขึ้น สตีเว่นลามาร์ตินด้วยคำนัดแนะที่ฟังดูเป็นทางการราวความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นนัดธุรกิจ: "เราจะคุยกันทางโทรศัพท์เพื่อหาเวลานัดครั้งหน้านะ โอเค?" (“We’ll talk on the phone to arrange our next meeting, ok?”) มาร์ตินเองก็ตอบรับ "โอเค, ลาก่อน" ("Ok, goodbye.") สั้นๆ ห้วนๆ ก่อนจะจากไป
b. โทนการเป็นทางการนี้อยู่ในการสนทนาของทั้งสองพร้อมกับเสียงที่ดังขึ้นในฉากคุยกันริมแม่น้ำหน้ารถ ขนาดสตีเว่นจะชวนมาร์ตินไปบ้านก็ยังเกริ่นว่า "คิดว่าเป็นความคิดที่ดี ถ้าจะขออะไรเธอหน่อย ถ้าเธอไม่รังเกียจน่ะ" ("I think it's a good idea. I'd like to ask you a favor, if you don't mind.")
c. เสียงบาดหัวใจดังขึ้นตอนมาร์ตินก้าวเข้าใกล้บ้านเมอร์ฟีย์เป็นครั้งแรก คิดถูกแล้วหรือคะที่ชวนเด็กหนุ่มคนนี้เข้าบ้าน?
d. เสียงดังขึ้นพร้อมกับการโทรศัพท์ของมาร์ตินยามดึกก่อนสตีเว่นเข้านอน และอ้อยอิ่งอยู่ทั้งการสนทนา ก่อนจะค่อยๆ เบาลงเมื่อสตีเว่นอยู่ในลานจอดรถในฉากถัดมา
e. เสียงปรากฎตัวก่อนมาร์ติน ขณะสตีเว่นกำลังเดินไปออฟฟิสตัวเองในโรงพยาบาลเช้าหลังมื้อค่ำที่บ้านมาร์ติน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อเปิดประตูไป เราก็เห็นเด็กหนุ่มนั่งรอสตีเว่นอยู่
พอดูรอบสองเราก็ยิ่งชอบการแสดงและพูดบท (line delivery) ของแบร์รี่ในฉากนี้
"My heart aches. I'm in pain.
My chest. It hurts.
My heart. I'm worried."
"หัวใจผมปวด ผมเจ็บปวด
หน้าอกผม มันเจ็บ
หัวใจผม ผมกังวล."
ถึงจะไม่ได้พูดสามวรรคติดต่อกันดื้อๆ แต่การพูดแต่ละประโยคก็เป็นจังหวะที่ฟังดูธรรมชาติ ออดอ้อน บ่นให้สตีเว่นเห็นใจ ยิ่งเอาสามวรรคมาเรียงกันอย่างด้านบน ยิ่งทำให้เราชอบการเขียนบทของยอร์กอสกับอิฟิธีมิสขึ้นไปอีก เป็นประโยคที่ล้อกัน มีจังหวะ ดูร้อนรนเจ้าบทบาทตามเจ้าของเสียงเหลือเกิน
มาร์ตินยังบอกสตีเว่นว่าตัวเองนอนบนเตียงแม่เมื่อคืน เป็นข้อมูลชนิดที่คนไข้ปกติคงไม่บอกกับหมอ และทำให้เราสงสัยความสัมพันธ์ระหว่างมาร์ตินกับแม่ กับ มาร์ตินกับสตีเว่น มากขึ้นไปอีก
f. เสียงดังอื้ออึงตอนมาร์ตินโทรตาม(จิก)สตีเว่นที่ไม่ยอมมาตามนัดที่ไดเนอร์ ดังพร้อมๆ กับฉากแมตทิวหั่นแก้มของปลา มาร์ตินเรียกร้องสตีเว่นราวเป็นเจ้าของเขา "ผมโทรหาคุณตั้งร้อยครั้งแล้ว... รอคุณมาเกินครึ่งชั่วโมง อะไรจะสำคัญหนักหนา มาแป๊บเดียวก็ได้ ผมไปหาคุณใกล้ๆได้นะ" เด็กหนุ่มยังตอกย้ำการพยายามควบคุมสตีเว่นด้วยการกระซิบบอกต่อหน้าแอนนา "อย่าให้ผมรอเก้อเหมือนคราวที่แล้ว" ("Don't stand me up like last time.")
คำว่า 'อย่า' ('Don't') เป็นเหมือนคำสั่ง คำเตือนจากเด็กหนุ่มต่อคนแก่กว่า ซึ่งเป็นความกล้าที่แปลกมาก คล้ายจะแสดงถึงสถานะที่สูงกว่าของตัวเองในความสัมพันธ์ การกระซิบยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ดูมีลับลมคมใน หลบซ่อนต่อหน้า 'ภรรยา' จริงในชีวิตของสตีเว่นไปอีก
แล้วยังประโยคของมาร์ตินที่ว่า "คุณให้ของขวัญผมมากมายแล้ว รู้สึกเกรงใจถ้า..." ("You've given me so many presents. It's rude not to--") แสดงว่านาฬิกาเรือนแพงไม่ใช่ของขวัญแรกของสตีเว่นต่อมาร์ติน แต่นี่มันคือความสัมพันธ์ประเภทไหนกัน?!
"คุณให้เวลาผมน้อยลงนะเดี๋ยวนี้" ("You've been devoting less and less time to me lately.") ประโยคนี้เหมือนคนที่มีความสัมพันธ์เกินเพื่อนพูดทวงเวลาที่ควรให้ต่อกัน คำว่า 'ให้ - devote' สะท้อนถึงการที่มาร์ตินมองว่าสตีเว่นต้องสละเวลาของเขา ในชีวิตเขาให้กับตัวเอง
เสียงยังบรรเลงขณะมาร์ตินถูกส่งตัวออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อเปิดเผยคำสาปสามข้อของเขา
g. เสียงส่งตัวมาร์ตินออกจากห้องนอนคิม เจ้าตัวทิ้งท้ายด้วยประโยค "เราสงสารพ่อเธอต่างหาก" ("I feel sorry for him.") คำเดียวกันที่สตีเว่นใช้แก้ตัวกับแอนนาเรื่องการใช้เวลากับมาร์ตินบ่อยๆ ("ผมสงสารเด็กมัน" "I feel sorry for him.")
ซึ่งคล้ายจะทำให้คนดูเห็นมาร์ตินเป็น 'ตัวละครเทา' ที่พูดสงสารที่ทำให้สตีเว่นตกในสถานการณ์แบบนี้ ควบคุมทุกสิ่งในชีวิตที่เคยควบคุมไม่ได้ ขณะมาร์ตินอยู่ในฐานะเหนือกว่า ส่วนสตีเว่นก็พยายามพูดเข้าข้างตัวเองกับแอนนา ทั้งๆที่เป็นความผิดของตัวเองที่พ่อของมาร์ตินเสียชีวิต
h. เสียงดังขึ้นเมื่อแอนนาก้าวลงบันไดตามสตีเว่นไปที่ห้องใต้ดิน บอกใบ้ให้เรารู้ว่าสิ่งที่รออยู่นั้นคืออะไร
i. ที่น่าสะพรึงที่สุดคือเสียงประจำตัวมาร์ตินดังขึ้นครั้งสุดท้ายในฉากที่ไม่มีมาร์ติน แต่เป็นฉาก Climax ของหนังที่เกิดขึ้นเพราะคำสาปของมาร์ติน: ฉากเสี่ยงยิงนั่นแหละ
สังเกตเห็นว่าผ้าที่คลุมหน้า 'เหยื่อ' ทุกคนจะเป็นโทนสีอ่อนดังผู้บริสุทธิ์ (แอนนา - ขาว, คิม - ลายดอกไม้เหมือนเสื้อที่เธอชอบใส่ตลอดเรื่อง, บ๊อบ - ฟ้าอ่อนเหมือนชุดคนไข้) ตรงข้ามกับสีดำของสตีเว่น ผู้ไถ่บาปของตัวเอง
ฉากนี้ทำให้เรานึกถึงประโยคในบทวิเคราะห์ที่เคยเขียนไปก่อนดูหนังว่าเทพเจ้าคอยควบคุมเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในชีวิตมนุษย์อยู่ และโศกนาฏกรรมเป็นโศกนาฎกรรมเพราะความไม่แน่นอน
การทิ้งให้การตัดสินใจเป็นเรื่องของโชคชะตา (leaving his decision to chance) ทำให้จุดแตกหักของครอบครัวเมอร์ฟีย์ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมเพราะความไม่แน่นอน (uncertainty hence tragedy) แถมการ 'สังเวย' คราวนี้ยังนำมาสู่การตึงเครียดทางจิต (ของสตีเว่นและแอนนา) และคุกคามต่อชีวิต(ของน้องบ๊อบ)
Because I Want You To Believe Me: Martin as the 'Eye'
ตามโปสเตอร์ที่ปล่อยออกมารูปนี้ เหมือนจะใบ้ว่ามาร์ตินเป็น 'ตา' สอดส่องความเป็นไปในชีวิตสตีเว่นและครอบครัวเมอร์ฟีย์ ซึ่งแล้วแต่การตีความว่า เด็กหนุ่มเป็น 'ผู้ตัดสิน' ความถูกต้องที่มาทวงความยุติธรรมแบบที่ตัวเองกล่าวอ้างหรือไม่
เรามองเห็นฉากขนาน (parallels) ระหว่างฉากในไดเนอร์อาหารเช้าของหนังโปรดของมาร์ตินและพ่อของมาร์ติน (
Groundhog Day, 1993) กับฉากในคาเฟ่ที่โรงพยาบาลระหว่างมาร์ตินกับสตีเว่น โดยยอร์กอสเคยให้
สัมภาษณ์ว่า ไอเดียที่จุดประกายการเขียนหนังเรื่องนี้คือ การให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งมีอำนาจเหนือผู้ชายแก่กว่าที่อยู่ในสถานะทางสังคมและมีความเพรียบพร้อมกว่าเขาทุกอย่าง
ฉากใน Groundhog Day ที่มาร์ตินดูในหนัง คือฉากที่พระเอกกำลังพยายามอธิบายบอกนางเอกว่าตัวเองคงเป็น 'เทพเจ้า' (แต่ไม่ใช่ 'พระเจ้า') เพราะรอดชีวิตจากการตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อตื่นมาในวันเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อนางเอกถามว่าเขาบอกเธอทำไม ("Why are you telling me this?") เขาก็ตอบว่า 'เพราะฉันอยากให้เธอเชื่อฉันน่ะสิ' ("Because I want you to believe me.") ซึ่งเป็นโทนคล้ายตอนที่มาร์ตินกำลังสาธยายและยืนยันในเรื่องคำสาปของตนให้สตีเว่นฟัง ทั้งที่สตีเว่นก็ดูไม่ค่อยเชื่อเด็กหนุ่มเท่าไหร่
M: "I'm really sorry about Bob."
S: "It's nothing serious."
M: "It is.... They will get sick and die.... understand?"
S: "No, I don't."
M: "ผมเสียใจด้วยนะเรื่องบ๊อบ"
S: "ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก"
M: "ใช่สิ พวกเขาจะป่วยและตายกันหมด...เข้าใจมั้ย"
S: "ไม่ ผมไม่เข้าใจ"
บทมีการเถียงกันทั้งสองฝ่าย ("It's nothing serious - It is"/"... understand? -.... I don't.") เหมือนยื้อยุดกันไปมา แย่งอำนาจ แย่งสถานะที่สูงกว่าในสถานการณ์คับขันนี้ (power dynamic)
ที่เราอยากพูดถึงอีกคือ บทของมาร์ตินในห้องใต้ดิน ทั้งๆที่ตัวเองถูกมัดและขังไว้ ดูจะอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า อับจนและหมดทางหนี มาร์ตินกลับพูด (หลังจากกัดชิ้นเนื้อตัวเองออก!) กับสตีเว่นว่า: "ผมควรลูบแผลคุณมั้ย แต่คงจะเจ็บมากขึ้น ถ้าลูบแผลเปิด" ("Should I stroke your wound? That’d probably hurt even more, stroking an open wound.”)
เป็นประโยคที่สะท้อนสถานการณ์ระหว่างสตีเว่นและมาร์ติน เพราะแม้สตีเว่นจะจับมาร์ตินมาได้ การป่วยและทุกข์ของครอบครัวเขาก็ไม่ได้เบาลง และมาร์ตินที่นั่งเฉย ไม่ได้เจ็บปวดหรือหวาดกลัวการกักขังของสตีเว่น ก็เหมือนการลูบแผล กระทบความเจ็บปวดของสตีเว่นอยู่เนืองๆ
My Heart: Anna as 'The Heart'
โปสเตอร์อวัยวะเปรียบเทียบคำพูดของแอนนาเป็น 'หัวใจ' ดัง 'หัวใจ' ของครอบครัวเมอร์ฟีย์ หัวใจที่ก้มลงจูบเท้าทั้งสองของมาร์ตินเพื่อขอความเมตตา คล้ายในตำนานอิลเลียด (Iliad) ที่ผู้นำก้มจูบเท้าอีกฝ่ายก่อนขอศพนักรบของฝ่ายตนคืนมา
นอกจากที่เคยวิเคราะห์โปสเตอร์นี้ไป หลังดูหนังแล้ว เรานึกถึงที่ยอร์กอส
กล่าวว่าชอบเรื่องแนวตัวละครเป็นหมอ เพราะสามารถเล่นกับความคลุมเครือของสายแพทย์ในด้านความผิด การกล่าวโทษ และความยุติธรรม (ambiguity around fault/blame/justice) ซึ่งนักวิจารณ์อื่น
เสริมว่าสตีเว่นแทบจะเป็น 'หมอหัวใจ' ในการช่วยเยียวยา 'หัวใจ' ในด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ร่างกาย (จากบทสนทนาตอนต้นของสตีเว่นกับแมตทิวที่มีสายสัมพันธ์กับคนไข้ที่ลดราคานาฬิกาได้ เกินเส้นขั้นคนไข้-หมอ) อย่างมาร์ตินที่ต้องการสตีเว่นเพื่อเยียวยา 'หัวใจ' ตัวเองและครอบครัว
บทวิจารณ์หนึ่ง
ถึงกับเทียบการเต้นตุบๆของหัวใจในฉากเปิดเรื่องกับเวลาที่น้อยลงทุกทีในการตัดสินใจของสตีเว่น
การผ่าตัดหัวใจในฉากเปิดคือ
Quadruple Bypass Heart Surgery - ผ่าตัดแก้เส้นเลือดในหัวใจอุดตันทั้งสี่ ดูจากมุมสูง และค่อยๆ ซูมออก คล้ายจากมุมมองของใครที่เฝ้าดูอยู่เบื้องบน (คอลิน ฟาร์เรลเองอยู่ในห้องผ่าตัดตอนถ่ายทำฉากนี้ด้วย) จำนวนเส้นเลือดทั้งสี่ทำให้เราคิดถึงสมาชิกในครอบครัวเมอร์ฟีย์ผู้อมทุกข์ทั้งสี่ที่ทั้งเรื่องเปรียบดังหัวใจที่อุดตัน
You've Got Lovely Hands: Steven as 'The Hand'
บทความจาก
New York Times กล่าวถึงความสำคัญของความคล่องแคล่วชำนาญของมือศัลยแพทย์ในความแตกต่างของการผ่าตัดรักษาคนไข้ให้สำเร็จ
ทั้งแม่ของมาร์ติน มาร์ติน และ แอนนา ต่างพูดถึงมือสวยๆ ของสตีเว่น ที่เป็นสิ่งแรกที่คนดูเห็นในฉากเปิดก่อนจะรู้จักกับสตีเว่นเสียอีก ในฉากถอดถุงมือและเสื้อกาวน์ที่สไลว์ โมชั่นตามดนตรีประกอบจนดู 'เล่นใหญ่' ไปถนัด คล้ายยกยอสตีเว่นเป็นพระเจ้าและผู้มีอำนาจแต่ต้นเรื่อง
มาร์ตินพูดซ้ำคำของแม่เขา ("ขาว นุ่ม และสะอาด - white, soft, and clean") ในฉากกินสปาเกตตี้ต่อหน้าแอนนาว่า มือของสตีเว่นดีมาก หมอทุกคนมีมือที่ดี สวย สะอาด ("nice, clean, beautiful") ซึ่งเป็นคำเดิมที่แอนนาจำฝังใจมาใช้กล่าวหาสตีเว่นในฉากที่ทั้งคู่ทะเลาะกันในครัว ("มือคุณสวยจริงๆด้วย - You really do have beautiful hands.") แต่ในบริบทของเรื่อง มืออันสวยงามที่เป็นเครื่องมือสำคัญในวิชาชีพแพทย์และการ 'หยิบจับ/กระทำ' ในฐานะหัวหน้าครอบครัว กลับไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ตามที่มือควรจะถูกใช้
เหมือนคำชมว่าสวยเป็นการชมลอยๆ เหมือนจะชมมือที่ 'มีเปล่า' ของสตีเว่น
ถึงจะมีมือที่สวยงาม ที่ควรจะช่วยชีวิตคนไข้ได้อย่างปลอดภัย สตีเว่นก็พลาดทำร้ายคนไข้อย่างพ่อของมาร์ติน
ถึงจะมีมือที่สวยงาม สตีเว่นกลับไม่ได้ 'ลงมือ' กระทำอะไรบางสิ่งที่ทำให้ครอบครัวของเขาหายดี เพราะกลายเป็นตัวเองไร้พลังต่อต้านคำสาปของมาร์ติน เขากลายเป็นดังคนไร้ความสามารถ (incompetent) ที่เอาแต่คิด แต่ไม่ตัดสินใจและลงมือกระทำ ดังมือที่ 'ไร้ชีวิต' (lifeless) ตามคำว่าของแอนนา
จากมือของสตีเว่น เราสามารถเชื่อมโยงได้ถึงการตีความว่า The Killing of a Sacred Deer เป็นการตีแผ่ความเน่าเฟะที่แท้จริงของชนชั้นกลางระดับสูง (Upper Middle Class) ที่ภายนอกดูดี เฉกเช่นมือที่ดูดีแต่ภายนอก เพราะไม่อาจใช้ทำอะไรให้เกิดผลจริงได้
หากหลังมาร์ตินเตือนให้รีบทำอะไรก็ทำเพราะบ๊อบใกล้ตายแล้ว แอนนากลับหยิบมือทั้งสองของสตีเว่นขึ้นมาจูบ เลีย ขณะมองเขา เป็นการกระทำเดียวกับแม่ของมาร์ตินแต่นุ่มนวลและละมุนกว่า คล้ายการจูบมือผู้ที่ตน
นับถือ ที่มีสถานะสูงกว่าตนในชีวิตในธรรมเนียมกรีก
การ 'ตายทั้งเป็น' ไม่กล้าตัดสินใจของสตีเว่นในสถานการณ์ของหนัง
ถูกเปรียบเทียบกับรูปวาด
Christina's World (โลกของคริสติน่า) ของแอนดริว ไวเอท Andrew Wyeth (1948) ที่สะท้อนความ 'อัมพาต' ทั้งที่มีชีวิตอยู่
ในภาพคือ คริสติน่า โอลสัน (Christina Olson) เพื่อนบ้านของจิตรกร ผู้ป่วยเป็นโรคทางระบทประสาทและกล้ามเนื้อเสื่อมโทรมที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยแน่ชัด (Undiagnosed Degenerative Neuromuscular Disease) นางกำลังพยายามคลานโดยใช้ร่างกายส่วนบนพาร่างกายส่วนล่างที่เคลื่อนไหวไม่ได้ไปข้างหน้า
เดาว่าเป็นภาพที่คนดู The Killing of a Sacred Deer คงจะติดตากันเป็นอย่างดี
ความขัดแย้งทางสองส่วนของร่างกายนี้เปรียบเหมือนสองด้านของครอบครัวเมอร์ฟีย์: สตีเว่น ผู้เคลื่อนที่และตัดสินใจได้ แต่อย่างไรก็ไม่สามารถช่วยลูกๆ ได้ vs. ลูกๆผู้เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่พยายามคลานเพื่อหา 'พื้นที่' ของตัวเองในยามคับขัน
Can I Hug You?: The Steven-Martin Dynamic
พีคที่สุดแล้วเมื่อ
แบร์รี่และ
คอลินให้สัมภาษณ์ตรงกันว่า ทีแรกตอนมาร์ตินขอกอดสตีเว่นหลังได้รับของขวัญ เขาพูดว่า "Can I kiss you? - ผมจูบคุณได้ไหม?" แต่ยอร์กอสตัดบรรทัดนี้ออกไป
ผ่าง! ไม่ว่าจะเป็นจูบแก้ม หรือจูบปากแบบไหน เราก็ได้คำใบ้ตรงนี้จากสองนักแสดงนำว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสองตัวนี้ 'เกินเลย' ความเป็น 'เพื่อนต่างวัย' ไปมากแล้ว
สตีเว่นทั้งอาสาจะให้เงินมาร์ตินในตอนต้นเรื่อง ทักเรื่องตัดผม (แสดงว่าสนิทสนมกันมาก เป็นคำถามที่ขัดกับคำท้วงให้บ๊อบไปตัดผมเสียที) ชวนมาร์ตินค้างคืนที่บ้าน และบอกว่า อะไรก็ได้ตามใจเธอ ("Whatever you want") ต่อคำปฏิเสธของเด็กหนุ่ม ส่วนมาร์ตินเองก็ไม่ฟังและปล่อยผ่านคำที่สตีเว่นขอให้หยุดสูบบุหรี่ง่ายๆ
คิดๆดู ที่ระยะเวลาการแต่งงานของสตีเว่น 16 ปีตรงกับอายุของมาร์ตินพอดี อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญก็ได้--
ยอร์กอส
พาคนดูมองความสัมพันธ์นี้ผ่านมุมกล้องสูง ต่ำ และค่อยๆเคลื่อนที่เข้าหา หรือออกห่างจากตัวละคร คล้ายคนดูแอบมองตัวละคร เพราะเขามองว่าตัวกล้องเป็นบุคคลภายนอก คล้ายคอลินที่
คิดว่าในเรื่องมีเทพเจ้าแห่งอดีตที่ปรากฏตัวอยู่ทุกแห่ง (omnipresent god of the past) เพื่อมองลงมาดูความโง่เขลาของมนุษย์ ทั้งโศกนาฏกรรม ความสะเทือนใจ และความเบื่อหน่าย (tragedies, trauma, boredom)
คอลิน
กล่าวว่าตัวหนังทำให้เขาคิดถึงคำคมจากหนังของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson) เรื่อง
Magnolia (1999): "เราอาจคิดว่าอดีตจบไปแล้ว แต่อดีตไม่ยอมจบกับเรา" ("We may be through with the past, but the past ain't through with us.") อดีตที่ว่าของสตีเว่นก็คือความผิดพลาดที่ตามมาหลอกหลอนทำร้ายปัจจุบันในรูปของมาร์ตินที่แทรกตัวเข้ามาในชีวิตเขา
เรามองว่าตัวเต็มของคำคมเหมาะกับหนังและโลกของยอร์กอสมากๆ
"There are stories of coincidence and chance, of intersections and strange things told,
and which is which and who only knows? And we generally say, “Well, if that was in
a movie, I wouldn’t believe it.”
Someone’s so-and-so met someone else’s so-and-so and so on.
And it is in the humble opinion of this narrator that strange things happen all the time. And
so it goes, and so it goes.
And the book says, “We may be through with the past, but the past ain’t through with us.”
"มีการเล่าเรื่องราวแห่งความบังเอิญและโอกาส การประสบพบเจอ และสิ่งแปลกประหลาด
และอะไรเป็นอะไร ใครจะไปรู้ แต่เรามักพูดว่า 'ถ้ามันอยู่ในหนังนะ ฉันคงไม่เชื่อหรอก"
คนของนั้นคนนี้เจอคนนู่นของคนโน้นและอื่นๆ
และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวอันต่ำต้อยของผู้บรรยายคนนี้ว่า สิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นตลอดเวลา และมักเป็นไปเช่นนั้นเรื่อยๆ
และหนังสือบอกเราว่า 'เราอาจคิดว่าอดีตจบไปแล้ว แต่อดีตไม่ยอมจบกับเรา'"
- Magnolia (1999)
Magnolia (1999) เป็นหนังรวมเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาชีวิตตัวละครต่างๆ ในฮอลลีวู้ด ซึ่งมาเกี่ยวพันกันโดยบังเอิญ มีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้นกับทุกตัวละครตอนฉาก Climax ของเรื่อง ซึ่งไม่เคยถูกอธิบาย แต่คล้ายหนังยอร์กอส ตัวหนังมีคำใบ้และรายละเอียดอ้างอิงถึง 'เทพเจ้า' และแรงภายนอกล่องหนที่ควบคุมชีวิตมนุษย์เดินดินอยู่
(คอลินสุดยอดอีกแล้วที่ยกหนังเรื่องนี้มาเปรียบเทียบ!)
*เป็นหนังเรื่องแรกของพอล โธมัส แอนเดอร์สันที่เราดู และเริ่มรักผู้กำกับคนนี้ พอล โธมัส แอนเดอร์สันยังเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่แบร์รี่อยากทำงานด้วยนะ เราเชียร์ให้หนุ่มคนนี้ได้ไปไกลอย่างฝันค่ะ!
ที่เกริ่นเรื่องความสัมพันธ์และเทพเจ้ามาก่อน เพราะบทวิจารณ์หนึ่งเปรียบมาร์ตินเป็น 'เทพเจ้าแห่งเล่ห์กล' (ยังกับโลกิ) ที่สอนบทเรียนให้มนุษย์จากมุมมองที่ด้อยกว่า (inferior perspective) เหมือนที่พระเจ้าสร้างต้นไม้เพื่อสอนเรื่องผลไม้ต้องห้าม (Forbidden Fruit) แก่อดัมกับอีฟ ผลไม้นั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก แอปเปิ้ลค่ะ
ก็แค่พายแอปเปิ้ลที่สตีเว่นชอบกินที่ไดเนอร์ พายที่มาร์ตินอาสาจะเอาไปให้เมื่อเขาปล่อยให้เด็กหนุ่มรอเก้อ คำว่าแอปเปิ้ลในภาษา
ละติน:
malum (มาลั่ม) เป็น homonym (คำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน) กับคำว่า 'ชั่วร้าย' (evil)
สงครามกรุงทรอยทั้งหมดเริ่มต้นจากการให้ปารีสมอบแอปเปิ้ลของเทพีแห่งการทะเลาะแด่เทพีผู้สวยที่สุด ('To The Fairest') ในสามเทพี (เฮร่า อะโพรไดท์ และอเธน่า) ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมกรีกทุกวันนี้ว่าการโยนแอปเปิ้ลให้คนที่เราหมายปองคือการขอแต่งงาน
(เดี๋ยว ใครเอาอาสาเอาพายแอปเปิ้ลไปให้ใครนะ--)
ตามความหมายในวรรณกรรมแล้ว แอปเปิ้ลกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ ความเป็นอมตะ สิ่งยั่วยุ และบาป เมื่ออยู่ในมือของอดัม แอปเปิ้ลเป็นตัวแทนแห่งบาป แต่กลับเป็นตัวแทนแห่งชีวิตในมือพระเยซู
แอปเปิ้ลยังทำให้นึกถึง
สำนวนที่ว่า "one bad apple spoils the bunch - แอปเปิ้ลเน่าหนึ่งลูกทำเน่าทั้งลัง" เหมือนความผิดพลาดครั้งเดียวของสตีเว่นที่สร้างความทุกข์มหันต์กับครอบครัวของเขา
I Got You a Present: Exchange of Gifts
ของขวัญเท่าที่เห็นสตีเว่นและมาร์ตินแลกเปลี่ยนกันในหนังคือ นาฬิกาข้อมือราคาแพงที่สตีเว่นให้มาร์ติน และมีดพกสวิส (Swiss Army Knife) ที่มาร์ตินให้สตีเว่น
เราแอบเอะใจเรื่องนาฬิกาตั้งแต่ได้ยินแมตทิว เพื่อนของสตีเว่นพูดว่า พ่อของคนไข้เขาเป็นเจ้าของร้านนาฬิกาและสามารถลดราคาให้สตีเว่นได้ เพราะ 'พ่อของคนไข้' เป็นสถานะเดียวกันกับที่มาร์ตินเป็นต่อสตีเว่น และอาจหมายความว่าหมอสองคนนี้สนิทกับคนไข้คนอื่นเกินความสัมพันธ์ปกติ
แน่นอนว่าการมอบนาฬิกาเท่ากับการตีความตรงๆ ว่ามาร์ตินมอบ 'เวลา' ให้กับสตีเว่น ก่อนจะเป็นคนริบมันไปจากชีวิตเขาด้วยคำสาปวิปริต หากนาฬิกามีค่า ("...more hard-wearing and more expensive." "...คงทนและแพงกว่า") เรือนนี้เป็นของขวัญที่เกินเลย 'เพื่อนวัยพ่อ' จะมอบให้ มาร์ตินก็ไม่ใช่ลูกชายของสตีเว่นด้วยซ้ำ มีคนสังเกตว่าหลังจากฉากที่จงใจเข้าไปหาสตีเว่นที่โรงพยาบาลเพื่ออวดสายหนังแล้ว มาร์ตินก็ไม่ได้สวมนาฬิกานั้นอีกเลย
มาร์ตินสวมกอดสตีเว่นหลังได้ของขวัญ กล้องโฟกัสที่หน้าของมาร์ติน เราจึงไม่แน่ใจว่าสตีเว่นกอดเด็กหนุ่มกลับหรือไม่ อย่างไร รู้แต่ว่ายอมให้กอด แต่สตีเว่นกลับไม่ยอมกอดมาร์ตินต่อหน้าแม่ของมาร์ติน ศัลยแพทย์วัยกลางคนดูรู้สึกอึดอัดชัดเจนเมื่อเด็กหนุ่มโผเข้าไปกอดโดยไม่ถามก่อน ทั้งๆ ที่เรื่องระหว่างสองคนยังไม่บานปลาย
ทางมีดพกสวิส เราวิเคราะห์หลวมๆ ว่าเป็นอุปกรณ์อเนกประสงค์ แทนคำเตือนสะกิดให้สตีเว่นตัดสินใจ 'ทำอะไรสักอย่าง' กับสถานการณ์ของเขา เป็นของมีคมที่มาร์ตินมอบให้สตีเว่น ผู้คร่าชีวิตพ่อของเขาไปด้วยมีดในมือสวยๆคู่นั้น เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างสองคนจะวนกลับมาครบรอบ (full-circle)
Now That Your Father Isn't Home: Father Figure Shift & Masculinity Display
นอกจากความสัมพันธ์อันคลุมเครือ มาร์ตินกับสตีเว่นยังแข่งขันกันเรื่องตำแหน่งความเป็นชาย (Masculinity) ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว (Father Figure) อีกด้วย
ต่อมาจากบทวิเคราะห์อันก่อน อำนาจของผู้ชายตามธรรมเนียมกรีกคือ การที่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว (oikos ในภาษากรีก) มาร์ตินเองเสียพ่อไปเพราะสตีเว่น ต้องเป็นผู้นำในครอบครัวชั่วคราวแทนพ่อเพื่อแม่ และพยายามในตอนแรกที่จะให้สตีเว่นเป็น 'พ่อเลี้ยง' (แต่ตามที่วิเคราะห์มาข้างต้นน่าจะเลี้ยงแบบเป็นมากกว่าลูก--) จับคู่กับแม่ตน แล้วสนิทกับตนเหมือนลูกชาย หากเมื่อสตีเว่นถอยห่างจากตำแหน่งในครอบครัวที่มาร์ตินหมายตาไว้ เด็กหนุ่มก็หมายทำลายตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวของสตีเว่นในครอบครัวเมอร์ฟีย์
การ 'เก็ง' ความเป็นชายเห็นได้จากบทสนทนาที่น่าขำของมาร์ตินและสตีเว่นกลางเรื่อง ที่มีต้นเหตุมาจากบ๊อบ พยายามถามมาร์ตินเรื่อง 'ขนใต้แขน' ในฉากที่มาร์ตินเพิ่งทำความรู้จักกับครอบครัวเมอร์ฟีย์เป็นครั้งแรก คล้ายจะก้าวเข้ามาเป็น 'ผู้ชาย' อีกคนในครอบครัวที่บ๊อบไม่เคยชิน หากกลับเป็นผู้ชายที่คิมพร้อมจะคล้อยตาม
'ขน' ของผู้ชายเป็นการแสดงความเป็นชายตามความเชื่อกรีกโบราณ อย่างตารางด้านล่าง:
ความเป็นชาย (Masculinity, ซ้าย) vs. ความเป็นหญิง (Femininity, ขวา) ตามกรีกโบราณ
Rubarth, S. (2013) "Competing Constructions of Masculinity in Ancient Greece" Athens: ATINER'S Conference Paper Series, No: MDT2013-0392.
ลักษณะความเป็นชายที่เห็นในตัวละครทั้งสองในเรื่อง นอกจาก 'ขน' (Hairy) แล้วก็คือ การตื่นตัว (Active), อำนาจ (Powerful) ที่มาร์ตินริบไปจากสตีเว่นด้วยคำสาป และ นักล่าและผู้จู่โจม (Hunter, Attacker) ที่มาร์ตินสวมบทโจมตีครอบครัวเมอร์ฟีย์ จนสตีเว่นกลายเป็นเหยื่อ (Victim, Prey)
ครอบครัวใต้ความดูแลของสตีเว่นเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ อย่างคำ 'ดีเลิศ' (Perfect) ที่สตีเว่นใช้ชมแอนนาซ้ำๆเรื่องชุดดำตอนต้นเรื่อง คำ 'สวยงาม' (Lovely) ที่แอนนาชมผมของทุกคนในครอบครัว ("We all lovely hair.") บทวิจารณ์หนึ่งจึง
แขวะว่า ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เราเริ่มมีความคิดร้ายๆ ตามมาร์ตินไป เมื่อเหตุร้ายเริ่มเกิดกับครอบครัวที่ดูดีแต่ภายนอกครอบครัวนี้
มาร์ตินถึงกับเรียกบ๊อบเย้าๆว่า 'ชายใหญ่ของบ้าน เมื่อพ่อไม่อยู่' ("...man of the house. Now that your father isn't home.") เมื่อเด็กชายไม่ยอมมากอดตนในห้องใต้ดิน
เราแอบชอบที่บทเผยให้คิมและบ๊อบเก่งกันคนละอย่าง ในแขนงวิชาที่ตาม tradition แล้ว เพศของตนถนัด (traditionally male-female dominated fields): ผู้หญิงเก่งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และผู้ชายเก่งเลขและฟิสิกส์ เหมือนสมองซีกซ้ายและขวาของมนุษย์ที่ขาดข้างหนึ่งไปไม่ได้
He Sends His Regards: Kim & Kim - Martin Relationship
อยากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคิมและมาร์ติน เพราะเป็นความผูกพันที่ทำให้เคราะห์ร้ายของครอบครัวเมอร์ฟีย์ที่ดูจะจบก็ไม่จบจริงๆจากฉากสุดท้ายของหนัง
คิมพูดถึงมาร์ตินกับแม่ด้วยโทนเป็นทางการ (formal) อย่าง "เขาฝากความหวังดีมา" ("He sends his regards.") ซึ่งไม่ใช่คำที่วัยรุ่นมักใช้พูดถึงคนที่คุยๆกันอยู่กับพ่อแม่ เหมือนคิมยกมาร์ตินเป็น 'เจ้านาย' ในชีวิตในบางอย่างซะงั้น
พอดูรอบสองเราสังเกตเสียงมาร์ตินที่เรียกคิมว่า อ่อนโยน และแอบเบา แฝงความอบอุ่นน้อยๆ กว่าตอนเรียกชื่อบ๊อบ "Hi Kim - หวัดดี คิม" ของมาร์ตินยังมีกลิ่นอายความชอบที่มีต่ออีกฝ่ายอยู่ (จะเรียกว่าคิดไปเองกับคู่นี้ก็ได้)
คิมยังพูดกับมาร์ตินแบบฝันๆ เหมือนนางเอกที่คิดหนีไปกับผู้ชายของเธอว่า "ฉันรู้ว่าถึงจุดนึงแล้ว ทุกอย่างจะจบลง และคุณจะมาหา" ("I know at some point this would all be over and you would come.") ราวมาร์ตินเป็นที่พึ่งพิงของเธอ เป็นความหวังของเธอ หากเด็กหนุ่มกลับเฉยชาใส่
ส่วนฉากที่คิมพยายามหนีออกจากบ้านหลังขอร้องมาร์ตินให้ช่วยเธอให้ดีขึ้นไม่สำเร็จ ถือเป็นการตัดต่อเพื่อเล่าเรื่องอย่างฉลาดที่เราชอบมากๆ คำของคิมที่ว่า "หนูคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงใครอื่น" ("I was only thinking about myself, no one else.") ทำให้เราคิดถึงคำคมของกวียูริพรีดีส (Euriphrides) ผู้ประพันธ์โศกนาฎกรรมของอิฟินิไจอา ที่ว่า "มันก็แค่ธรรมชาติมนุษย์ เราต่างเอาประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง" ("It's only human. We all put our self-interests first.") ซึ่งบ๊อบ คิม และแอนนาต่างขอในทางของตัวเองให้สตีเว่นไว้ชีวิตตน
บทพูดของคิมต่อสตีเว่นขณะเขากำลังเช็ดแผลที่เข่าให้เธอเหมือนจะแสดงถึงความ 'เด็ดเดี่ยว' ที่อิฟินิไจอาเติบโตขึ้นระหว่างการกลัดกลุ้มพยายามตัดสินใจของพ่อในบทละคร เธอเรียกสตีเว่นเป็น 'เจ้านายและเจ้าแห่งชีวิต' ('my lord, the master of my fate') และบอกตรงๆว่าต้องการ 'ไถ่บาป' ให้พ่อ ('atone for your sins') และตนเป็นเพียงผู้น้อมรับความต้องการของพ่อ ('obey your wishes') ยอมตายเพื่อพ่อเท่านั้น ('die for you')
คิมยังเสริมฉากที่แอนนาจูบมือของสตีเว่นด้วยความนับถือ โดยแสดงตัวเป็นลูกสาวในอานัติของพระราชาในบ้านอีกคน
Where We Had Thought: A Quote
เราเจอคำคมวรรคหนึ่งใน
กระทู้ reddit ที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้อย่างที่คนโพสต์ว่ามากๆ
"where we had thought to find an abomination, we shall find a god;
where we had thought to slay another, we shall slay ourselves;
where we had thought to travel outward, we shall come to the center of our own existence.
And where we had thought to be alone, we shall be with all the world."
"เมื่อเราคิดว่าจะเจอสิ่งอันน่ารังเกียจ เราจะพบเทพเจ้า;
เมื่อเราคิดว่าจะฆ่าฟันอีกฝ่าย เราจะฆ่าฟันกันเอง;
เมื่อเราคิดว่าจะเดินทางออกไกล เราจะกลับเข้าสู่หัวใจแห่งความเป็นอยู่ของเราเอง
และเมื่อเราคิดว่าเราอยู่โดดเดี่ยว เราจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลก"
คำคมกล่าวถึงผลกระทบจากการกระทำของมาร์ตินต่อสตีเว่น
วรรคแรกคาดว่าหมายถึงมาร์ติน ที่กลายเป็น 'เทพเจ้า' มาทวงความยุติธรรมต่อครอบครัว
วรรคสองคือการพลิกโผของโชคชะตาที่สตีเว่นต้องทำตามคำบอกของมาร์ติน ลงมือสังหารเลือดเนื้อของตัวเองทั้งๆ ที่จ่อปืนหมายจะฆ่ามาร์ตินในไม่กี่ฉากก่อนของหนัง
วรรคสามกล่าวถึงการหนีปัญหาของสตีเว่น โดยพยายามหาทุกสาเหตุทางการแพทย์ที่เป็นไปได้ในการรักษาลูกๆ หากสุดท้ายกลับวกเข้ามาครุ่นคิดเรื่องที่ตัวเองเป็นสาเหตุ โดยเฉพาะหลังคำติของแอนนาที่ว่าเขาไร้ความสามารถ และต้องแก้ปัญหาจากตัวเองเท่านั้น
วรรคสี่คล้ายการ 'กลับสู่โลก' ผ่านการตาย/จากไปของสมาชิกครอบครัวเมอร์ฟีย์ ทั้งที่เคยคิดว่าโดดเดี่ยว หากกลับถูกจ้องมองจาก 'เบื้องบน' และ 'เทพเจ้า' จนต้องไถ่บาปของสตีเว่น
Leaving Them For Last: Final Words
"ผมชอบดูหนังที่ทำให้คนดูคิดต่อหลังจากหนังจบ" ยอร์กอส
กล่าว เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่เราชอบงานของผู้กำกับคนนี้ รักโลกของเขาที่ดูเหมือนเรียบง่าย แต่ไม่เคยไม่ทิ้งคำใบ้และรายละเอียดมากมายให้คนดูตีความได้หลากหลาย
"ผม
รู้เรื่องงานผมน้อยกว่าคนดูอีก เพราะทำไปด้วยสัญชาตญาณและโดยไม่รู้ตัว คนดูสามารถวิเคราะห์งานผมได้ลึกกว่าตัวผมเอง"
ส่วนที่ชอบจบแบบค้างๆ คาๆ ให้คนดูขบคิด หรือแทบอยากตะโกน 'อะไรวะ!' แรงๆ ยอร์กอสรู้สึกว่า 'ความไม่แน่นอน' (uncertainty) เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคงานเขา
"ผมตัดสินใจที่จะทำงานอย่างนั้น" เขา
กล่าว "ผมโอเคกับการไม่รู้ ผมไม่คิดว่ามันจะมีทางออกง่ายๆ".
//
โน้ตเยอะมาก หลังเรียบเรียงอีกที ก็มีตัดไปบ้าง
(ทำเหมือนจะเขียนเปเปอร์ส่งยอร์กอส)
cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ.
รอบสองคือจดประโยค/จุดสังเกตมา
ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ
คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ
ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ
หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ
บทความต่อไป: เที่ยวอิตาลีตามรอย Call Me By Your Name (2017)
x
ข้าวเอง.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in