เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ By ธเนศ วงศ์ยานนาวา
  • รีวิวเว้ย (1275) "การศึกษาคือสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม" เรามักจะได้ยินคำพูดนี้อยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะเมื่อมีคนพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อประเด็นดังกล่าวไปอยู่ในวงที่พูดกันถึงเรื่องของ "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" หลายคนออกมาเรียกร้องให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แต่ในโลกความจริงการศึกษายิ่งในระดับมหาวิทยาลัยมันมีเครื่องมือสำหรับคัดกรองการเข้าถึงการศึกษาของผู้คนอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งเรื่องของรายได้ เรื่องของความสามารถ และเรื่องของค่าใช้จ่าย อย่าง ค่าเทอม ค่าหอ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์ ค่ากิจกรรม และอีกสารพัดค่าใช้จ่าย ยิ่งในโลกที่มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนไปบนถนนของ "ทุนนิยมมหาวิทยาลัย" ที่มหาวิทยาลัยต้องหารายได้เลี้ยงตัวและมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ยังผลให้มหาลัยต้องแข่งขันกันหารายได้ บีบบังคับให้อาจารย์และบุคลากรต้องเดินอยู่บนเงื่อนไขของการสร้างผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือนและต่อสัญญา กระทั่งปัญหานี้นำไปสู่อุตสาหกรรม "การตีพิมพ์บืความวิชาการ" ที่ส่งผลกระทบต่อโลกวิชาการอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาประการหนึ่งคือเราแทบไม่มีโอกาสเห็นการเขียนโตกันในวารสารวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกแล้ว (โดยเฉพาะในไทย) เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่มีใครสักคนเคยพูดว่า "ทุนนิยมมันเหี้ย" เอาจริง "ทุนนิยมมหาวิทยาลัย" ก็เหี้ยไม่แพ้กัน
    หนังสือ : ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่
    โดย : ธเนศ วงศ์ยานนาวา
    จำนวน : 296 หน้า

    "ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่" หนังสือที่รวบรวมเอาข้อเขียนและบทบรรยายของผู้เขียนในรอบหลายปีนี้ที่ว่าด้วยเรื่องของ "เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)" มารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของโลกวิชาการและโลกมหาวิทยาลัยในระดับโลกและระดับประเทศที่ระบบของมหาวิทยาลัยถูกขับเคลื่อนด้วยแนวทางของเสรีนิยมใหม่ แนวทางที่บีบและบังคับให้มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนสถานะจากเดิมที่เป็น "ผู้ส่งมอบความรู้" มาสู่รูปแบบของ "ผู้ประกอบการทางความรู้" ซึ่งระบบเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมมหาวิทยาลัยนี้เองที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกวิชาการมาหลายสิบปี และโลกวิชาการในภาษาไทยเองก็กำลังดำเนินไปในแนวทางของทุนนิยมมหาวิทยาลัย ภายใต้วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยเช่นกัน

    เนื้อหาของ "ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่" แบ่งออกเป็น 7 บทหลัก และ 1 บทส่งท้ายที่จะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของทุนนิยมมหาวิทยาลัย ที่ขับเคลื่อนและดำเนินไปภายใต้แนวทางของเสรีนิยมใหม่ โดยเนื้อหาใน "ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่" แบ่งเป็นดังนี้

    (1) เสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัย และ STEM

    (2) การศึกษาใหม่ที่ไม่เท่าเทียมกันในรัฐประชาชาติ

    (3) เสรีนิยมใหม่: มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการและทุนนิยมวิชาการ

    (4) เสรีนิยมใหม่: จาก Agency สู่การบริหารภาครัฐแบบใหม่

    (5) ชุมชน ทรัพยากรมนุษย์ และรัฐเสรีนิยมใหม่

    (6) ผู้ประกอบการและการปฏิวัติการสร้างสรรค์ผลิรภัณฑ์ศิลปะ/นวัตกรรม

    (7) จากเสรีนิยมใหม่ถึงหลังเสรีนิยมใหม่ (Post-Neoliberalism) และกลับ

    (8) บทส่งท้าย: เกือบครึ่งศตวรรษของเสรีนิยมใหม่

    "ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่" ทำให้ข้อความอย่าง "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" และ "มหาวิทยาลัยอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร" ในยุคปัจจุบัน (2566) ที่มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนไปภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ คำพูดและข้อความอันสวยงามต่าง ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย "ทุนนิยมมหาวิทยาลัย" สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงโฆษณาสำหรับการประชาสัมพันธ์สินค้าที่เรียกว่าการศึกษาในระดับอุมดศึกษาก็เท่านั้นเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in