เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ
  • รีวิวเว้ย (1699) ครั้งหนึ่งในห้องเรียนวิชการเมืองการปกครองไทย ของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชานี้ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่าง "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ได้ออกข้อสอบปลายภาคของวิชาด้วยคำถามหนึ่งว่า "นักศึกษาคิดว่าการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ โปรดอธิบาย" แน่นอนว่าการเรียนการสอนและการสอบของคณะ กว่าร้อยละ 90 เป็นการสอบโดยให้ผู้เขียนแสดงความเห็นและความรู้ผ่านการตอบข้อสอบแบบอัตนัย เพื่อสะท้อนความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบของคำถามอาจจะมีธงอยู่บ้าง แต่หากส่วนประกอบสำคัญอยู่ที่การให้เหตุผลและนำเสนอหลักฐานเพื่อการสนับสนุนมุมมองของผู้ตอบคำถามดังกล่าว ว่าเชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุใด
    หนังสือ : 2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ
    โดย : ปัณฑา สิริกุล วิวัธน์ จิโรจน์กุล ปราชญ์ สามสี
    จำนวน : 484 หน้า 
    .
    "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" นับเป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของการตอบคำถามในชั้นเรียน ณ วันนั้น ในคำถามที่ว่า "การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ ?" และเนื้อหาที่ปรากฎใน "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" นับเป็นหนึ่งในแนวทางของการตอบคำถามดังกล่าวได้อย่างดี เพราะหากย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2535-2540 ภาพจำของกลุ่มคณะราษฎรและผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนับเป็นภาพจำของ "ปีศาจ" ในทางการเมือง งานวิชาการและงานเขียนก่อนช่วงเวลาดังกล่าวมักนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องเล่า เรื่องราวของกลุ่มคณะราษฎรในรูปแบบของกลุ่มคนที่ชิงสุกก่อนห่าม ชิงตัดหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นการเฉพาะ
    .
    ซึ่งเนื้อหาของ "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" เป็นการย้ำเตือนของงานสายหนึ่งที่มองภาพของคณะราษฎรและการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในมุมของผู้ชิงสุกก่อนห่ามและก่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ของพักพวกตน โดยเนื้อหาของ "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" เป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านการ์ตูน (และแอนิเมชัน-อย่าคาดหวังเรื่องงานภาพเป็นอันขาด) ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งถึงช่วงเวลาการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2477) ผ่านการนำเสนอข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกหยิบมาใช้ในการวางโครงเรื่องในการเล่าของหนังสือ "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ"
    .
    ในฐานะของผู้อ่านและในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์ ที่ถูกสอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาโดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และลิขิต ธีรเวคิน ทำให้เรามอง "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" ในมุมมองของคนที่เคยถูกบังคับให้นั่งอ่านงานและข้อถกเถียงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อน ซึ่งสิ่งที่ถูกนำเสนออยู่ใน "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" คือการตอกย้ำคำถามในข้อสอบปลายภาพของนครินทร์ ที่ว่า "นักศึกษาคิดว่าการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ โปรดอธิบาย" เพราะในท้ายที่สุดแล้วก็ยังมีหลักฐานอีกด้านหนึ่ง และงานศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในหนหลัง (หลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา) ที่เปิดพรมแดนความรู้และมุมมองทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนเรื่องราวในมิติที่กว้างขวางยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การอ่าน "2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" ก็คล้ายเป็นการเติมชุดความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งเพื่อใช้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ เหมือนที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเอาไว้ว่า "หากคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณตาบอดสองข้าง"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in