เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส By วรรณภา ติระสังขะ
  • (1261) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    .
    หากเรามองเรื่องของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นเป็น "คลื่น" (แบบที่ Huntington ใช้มองประชาธิปไตย) เราอาจจะมองเห็นคลื่นของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของไทยอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 ที่เริ่มต้นขึ้นหลังจากการแช่แข็งการเมืองท้องถิ่นภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ความน่าสนใจของกระแสการเรียกร้องการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดูจะมีกระบวนการในการผลักดันและเรียกร้องการกระจายอำนาจ (โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด) ในช่วงเวลาปัจจุบันดูจะเป็นกระแสของความตื่นตัวที่น่าสนใจและสังเกตเห็นได้แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่ติดตรมประเด็นเรื่องของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมากนัก ความน่าสนใจประการหนึ่งในช่วงเวลาที่กระแสของการเรียกร้องการกระจายอำนาจเริ่มเป็นที่นิยม (กระแสสูง) เราจะพบว่าในหลายครั้งเมื่อเราลองพิจารณาจากหลายข้อเรียกร้อยเรามักจะมีคำถามตามตอนท้ายว่า "แล้วยังไงต่อ หรือ จะไปยังไงต่อ" อย่างกรณีของการเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราจะมีคำถามตามท้ายว่าเขาจะเดินไปอย่างไรต่อหากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกิดขึ้นมาจริง ๆ โครงสร้างของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่ตรงไหน (?) และโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. จะไปอย่างไรต่อ (?) คำถามตามท้ายเหล่านี้เป็นคำถามเชิงรายละเอียดที่บางครั้งเราในฐานะของคนที่ติดตามเรื่องท้องถิ่นและการกระจายอำนาจก็สนใจว่าก้าวที่ 2, 3, 4 และ 5 ของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจจะเป็นเช่นไร
    หนังสือ : การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส
    โดย : วรรณภา ติระสังขะการปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส
    โดย : วรรณภา ติระสังขะ
    จำนวน : 55 หน้า
    .
    "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส" ประเทศที่เป็นแม่แบบในหลาย ๆ เรื่องของสังคมการเมืองไทย ทั้งเรื่องของการวางโครงสร้างในระดับสถาบันทางการเมือง การวางโครงสร้างในภาคส่วนของกฏหมายและกติกาทางการเมืองต่าง ๆ และรวมไปถึงแม่แบบของระบบการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของประเทศไทย ที่หลายเรื่องก็ได้รับและปรับเอารูปแบบของการปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศสมาเป็นแนวทาง ทั้งจากนักวิชาการและวงวิชาการด้านท้องถิ่นและการกระจายอำนาจในยุคแรกของไทยที่หลาย ๆ คนก็ได้รับการศึกษามาจากสำนักฝรั่งเศส เมื่อเป็นเช่นนั้น "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" จึงเป็นการพาผู้อ่านย้อนกลับไปทำความเข้าใจรากฐานของการปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศส ในแบบที่ชวนให้ผู้อ่านเข้าใจในพื้นฐานของการปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส
    .
    โดยเนื้อหาของ "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" แบ่งออกเป็น 1 บทนำ 1 บทส่งท้ายและ 6 ส่วนของเนื้อหา ที่บอกเล่าตั้งแต่เบื้องแรกถึงพัฒนาการและรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศส รวมถึงผู้เขียนยังพาเราไปทำความรู้ตักกับรูปแบบต่าง ๆ ของการปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศสที่หลายประเทศไม่มีแล้ว อย่าง จังหวัดโพ้นทะเลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโพ้นทะเล สำหรับเนื้อหาของ "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ ระบบการเมืองการปกครองระดับประเทศ
    .
    ส่วนที่ 1 ความเป็นมาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
    .
    ส่วนที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ แบ่งเป็น
    .
    (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบปกติ อาทิ เทศบาล (Commune) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (Département) และภาค (Région)
    .
    (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองขนาดใหญ่ (Les grandes villes) ได้แก่ เมืองปารีส (Paris) เมืองลียง (Lyon) และเมืองมาร์แซย์ (Marseille) เกาะกอร์ส (Corse) จังหวัดโพ้นทะเล (Département d’outre-mer : DOM) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโพ้นทะเล (Collectivité d'outre-mer : COM)
    .
    ส่วนที่ 3 องค์กรความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น (La coopération intercommunale)
    .
    ส่วนที่ 4 อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    .
    ส่วนที่ 5 การคลังและงบประมาณ
    .
    ส่วนที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    .
    บทส่งท้าย ความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    .
    เมื่ออ่าน "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" จบลง สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ คือ การทำความเข้าใจในรากฐานของรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นที่มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายแนวทาง และหลากหลายทางเลือกที่ทั้งหมดนั้นจะเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของการทำความเข้าใจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่สนใจในเรื่องของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นสามารถนำเอาพื้นฐานเหล่านี้ไปปรับใช้ ทำความเข้าใจ และตั้งคำถามต่อ อย่างในกรณีของกระแสในการตื่นตัวของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งความสำคัญของ "การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส" คือเมื่ออ่านจบแล้วเรากลับมามองเรื่องที่เกิดขึ้นมนประเทศมันจะช่วยให้เราเกิดคำถามต่อเนื่องว่า "แล้วยังไงต่อ (?)" เพื่อช่วยให้เรามีบทสนทนากับองค์ความรู้ที่ไม่จบสิ้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in