Makers
Store
Log in
You don't have any notification yet.
See All
My Wallet
null
Library
Settings
Logout
เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว
เพื่อใช้บริการเว็บไซต์
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆ
–
WanderingBook
-สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ-
“สัจจะเพียงหนึ่งเดียวคือ การเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเราเองจากความคลั่งไคล้งมงายในสัจจะ”
นวนิยายรหัสคดีแอบอิงปรัชญา ไสยศาสตร์ ประวัติศาสตร์อันปั่นป่วน และความเชื่อของยุโรปยุคกลาง ฝีไม้ลายมือของอุมแบร์โต เอโก ศาสตราจารย์ด้านปรัชญายุคกลาง แปลโดยคุณภัควดี
กล่าวขานอึงคนึงว่า สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ถูกจัดชั้นเป็นวรรณกรรมคลาสสิกไปแล้วโดยมิต้องพึ่งพากาลเวลา และผมก็ไม่กังขาด้วยว่า นี่คืองานแปลชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคุณภัควดี
ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มานานแล้วด้วยอาการป่วยของคนเสพติดการซื้อหนังสือ เริ่มต้นอ่านด้วยความครั่นคร้ามและหวั่นเกรง ต่อให้เป็นหนอนระดับคอทองแดง แต่ความหนาขนาด 700 หน้า ตัวหนังสือค่อนข้างเล็ก เพียงเท่านี้ก็ขู่ขวัญพออยู่แล้ว มิพักต้องขู่ซ้ำด้วยเนื้อหาปรัชญาและประวัติศาสตร์ยุคกลางที่แทรกอยู่ตลอดเรื่อง
จดจำได้ว่า ตั้งต้นอ่าน แต่จบลงด้วยความล้มเหลวสองสามรอบ อ่านไปสามสิบสี่สิบหน้าก็แล้ว บนหน้าผากยังถูกเครื่องหมายคำถามแปะไว้ไม่หลุดลอก สบถในใจ “มันเขียนอะไร? (วะ)”
ความรู้สึกส่วนตัว ‘สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ’ และ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของกาเบรียล กาเซีย มาเกซ คล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า เหมือนการเดินฝ่าเข้าไปในป่ารกทึบ ไร้แสงตะวัน ซ้ำปกคลุมด้วยม่านหมอกหนาแน่น ถ้าไม่อยากนั่งมองรอยหมึกไร้ความหมาย สี่สิบห้าสิบหน้าไม่พอ ต้องกัดฟันอ่านต่อไปให้เกินร้อยหน้า ผมจึงค่อยๆ จับต้นชนปลายได้และถูกกระตุ้นให้อ่านต่ออย่างรื่นรมย์
ยุคกลางของยุโรปถูกเรียกอย่างแดกดันอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคมืด (Dark Age) ที่เรียกว่าแดกดัน เพราะมันเป็นยุคที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกครองอำนาจล้นฟ้า แผ่คลุมทั่วยุโรป กษัตริย์หรือเจ้าเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ล้วนยอมศิโรราบแก่สันตะปาปาแห่งวาติกัน บารมีขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่พระเจ้าก็ใกล้เคียงเต็มที
ดังที่เป็นมา เป็นอยู่ และเป็นไป
ยามที่อำนาจมหาศาลตกอยู่ในมือใคร หน้าสว่างตาใสก็เปลี่ยนเป็นหน้ามืดตามัว ศาสนจักรโรมันคาทอลิกใช้อำนาจแสวงหาทรัพย์ศฤงคารจนผิดวิสัยผู้บำเพ็ญพรต มีการขายใบล้างบาปกันเป็นล่ำเป็นสัน ถ้อยคำในพระมหาคัมภีร์ไบเบิ้ลถูกหยิบยกมาใช้อย่างแข็งทื่อ สันตะปาปาคือผู้เดียวที่ตีความได้ถูกเที่ยงที่สุด ไม่เหลือที่ว่างให้ใครตีความ หากใครเหิมเกริมจะถูกถีบให้เป็นพวกลัทธินอกรีต เป็นข้ออ้างให้กองทัพของสันตะปาปาเข้าทำลายล้าง
ยุคกลางของยุโรปจึงปั่นป่วนไปด้วยเจ้าลัทธิมากมายที่ตั้งตนเองเป็นผู้นำพาฝูงแกะสู่อาณาจักรของพระเจ้า โดยไม่พึ่งถนนของวาติกัน การปล้นชิง เข่นฆ่า ขู่บังคับให้ยอมรับลัทธิของตนระบาดทุกหย่อมหญ้า ครั้นมีกษัตริย์องค์ใดห้าวหาญ (หรือบ้าบิ่น) พอจะท้าทายอำนาจสันตะปาปา นักบวชที่ไม่เห็นด้วยกับสันตะปาปาก็จะสนับสนุนด้วยหวังว่า ร่มเงาของอาณาจักรจะช่วยยับยั้งอำนาจบาตรใหญ่ของสันตะปาปาและช่วยให้ปฏิบัติตนและเผยแพร่แนวทางตามลัทธิความเชื่อของตนได้
ฉากที่ผมชอบฉากหนึ่งในสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ คือฉากที่เบอร์นาร์ด กุย อัยการศาลศาสนาผู้เหี้ยมเกรียม ไต่สวนความผิดของเรมิจิโอ พระคหบาลแห่งอารามในท้องเรื่อง ซึ่งมีอดีตเป็นสาวกคนหนึ่งของลัทธินอกรีต เบอร์นาร์ด กุย ซักไซ้โดยฟันธงแล้วว่าเรมิจิโอผิด ถ้อยคำใดที่หล่นจากปากเรมิจิโอจึงถูกเบอร์นาร์ด กุย โยงไปสู่ความผิดทั้งสิ้น ต่อให้มีทนายเก่งๆ สักสิบคน เรมิจิโอก็ไม่รอด
คดีปิดลงตามที่เบอร์นาร์ด กุย ต้องการ หมอนี่ยังพูดหลังจากให้พลธนูลากตัวเรมิจิโอออกไปแล้วว่า
“ต้นตอความชั่วร้ายของชนนอกรีตมักมีที่มาจากคำเทศนาซึ่งได้รับการยกย่องนับถือและยังไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ ความมุ่งมั่นอันแสนเข็ญและแบกรับแอกไม้กางเขตอันต่ำต้อยคือชะตากรรมของผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกใช้สอย เฉกเช่นตัวข้าผู้บาปหนา ให้ทำหน้าที่ชี้ตัวอสรพิษร้ายแห่งลัทธินอกรีต ไม่ว่ามันจะซุ่มซ่อนฟักตัวอยู่ที่ไหน แต่ในการปฏิบัติภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เราได้เรียนรู้ว่า คนที่ปฏิบัติตามลัทธินอกรีตโดยเปิดเผยไม่ใช่ชนนอกรีตจำพวกเดียวที่มีอยู่ ยังมีผุ้สนับสนุนลัทธินอกรีตที่ชี้ตัวได้จากปัจจัยห้าประการด้วยกันคือ ประการแรก พวกที่ดอดไปเยี่ยมชนนอรีตเมื่อถูกคุมขังในคุก ประการที่สอง พวกที่เศร้าเสียใจเมื่อชนนอกรีตถูกจับและเคยเป็นสหายสนิทกันมา (อันที่จริง เป็นไปไม่ได้ที่คนซึ่งได้คลุกคลีกับชนนอกรีตมานานจะไม่รู้เดียงสาถึงพฤติกรรมของมัน) ประการที่สาม พวกที่โพนทะนาว่าชนนอกรีตถูกลงโทษโดยไม่ยุติธรรม ทั้งๆ ที่ความผิดของมันได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ประการที่สี่ พวกที่ตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์คนที่กวาดล้างชนนอกรีตและโฆษณาต่อต้านพวกมันเป็นผลสำเร็จ ประการนี้ดูได้จากแววตา อาการของจมูก และสีหน้าที่พวกมันพยายามกลบเกลื่อน แสดงความจงเกลียดจงชังต่อคนที่ตนมีอคติ และแสดงความรักใคร่ใยดีต่อคนที่เคราะห์กรรมทำให้เวทนา ประการที่ห้า ประการสุดท้าย คือหลักฐานที่พวกนี้เก็บอัฐิของชนนอกรีตที่ถูกเผาและทำเป็นเครื่องรางของขลัง... แต่ข้ายังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับปัจจัยประการที่หกด้วย กล่าวคือ ข้าถือว่าคนจำพวกนี้เป็นสหายร่วมแนวทางโดยเปิดเผยกับชนนอกรีต คือไอ้พวกนักประพันธ์ตำรา (แม้ว่าพกวนี้จะไม่ได้ละเมิดสถาบันศาสนาโดยเปิดเผยก็ตาม) ที่พวกชนนอกรีตเอามาใช้เป็นมูลฐานอันนำไปสู่ข้อสรุปอันวิปริตอาเพศตามประสามัน”
เมื่อความเชื่อใดพยายามสถาปนาความถูกต้องเหนือความเชื่ออื่น มันมักนำไปสู่การต่อสู้ ขัดขืน และเข่นฆ่า จะมีคนที่ลุกขึ้นห่ำหั่นฟันฆ่าผู้อื่นอย่างเรมิจิโอด้วยเหตุผลน่าฟังว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นต่ำทราม ควรจะกำจัดทิ้ง และก็มีคนที่คลั่งไคล้สิ่งเดิม พร้อมจะฟาดฟันคนอื่นและใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วย ด้วยการกล่าวหาว่าเป็น ‘พวกนอกรีต’ ให้ตายตก
“เบอร์นาร์ด กุย เองคือผู้มีกิเลสแรงกล้า กิเลสของเขาคือความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวจนกลายเป็นความบ้าอำนาจ พระสันตะปาปาแห่งศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เหลือแล้วของเรามีกิเลสต่อโภคทรัพย์ ส่วนพระคหบาลในวัยหนุ่มมีกิเลสตรงที่อยากทดลองและเปลี่ยนแปลงและสำนึกบาป แล้วกลายเป็นกิเลสใฝ่หาความตายในบั้นปลาย...” ภราดาวิลเลียม อดีตอัยการศาลศาสนา ตัวเอกในเรื่องกล่าวไว้
ภายหลังการไต่สวนสิ้นสุด ภราดาวิลเลียมยังพูดกับแอดโซ นวกะผู้เป็นศิษย์ว่า
“ข้าจะบอกให้ว่าวันหนึ่ง เมื่อสุนัขใหญ่ทั้งสองตัว คือพระสันตะปาปากับพระจักรพรรดิ คิดจะสงบศึกกันขึ้นมา ทั้งสองจะเหยียบย่ำบนซากศพของฝูงสุนัขตัวเล็กๆ ที่กัดกันตายเพื่อรับใช้เจ้านายมัน และเมื่อนั้นไมเคิลหรืออูเบอร์ติโนย่อมถูกจัดการเยี่ยงเดียวกับที่หญิงสาวโดนในวันนี้”
หญิงสาวที่ว่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็น
ผมเชื่อเรื่องวงล้อแห่งประวัติศาสตร์ มันหมุนวนกลับมาเสมอ หมุนกลับมาขยี้เราครั้งแล้วครั้งเล่า ชวนสลดคือมนุษย์เรียนรู้ แต่ดูเหมือนว่าเราเรียนรู้น้อยไปหน่อย และปล่อยให้ความโกรธเกลียดอันอิงกับความเชื่อที่ตนยึดถือเข้าครอบงำ
“สัจจะเพียงหนึ่งเดียวคือ การเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเราเองจากความคลั่งไคล้งมงายในสัจจะ” เป็นอีกคำกล่าวของภราดาวิลเลี่ยมที่ผมรู้สึกว่าเป็นบทสรุปที่คมคาย
เราจะเห็นคนอย่างเรมิจิโอ เบอร์นาร์ด กุย กับลัทธินอกรีต ในรีต ทุกยุคสมัย ถ้าเรมิจิโอชนะ เขาก็จะกลายเป็นเบอร์นาร์ด กุย คนต่อไป เพื่อตามฆ่าเรมิจิโอคนต่อมา ...ไม่จบสิ้น
https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/144293863669400?__tn__=K-R
https://wandering-bird.blogspot.com/…/…/7626-21-122-500.html
#
TheNameOfTheRose
#
สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ
#
Umberto_Eco
#
ภัควดี
#
ยุโรปยุคกลาง
#
คริสตจักร
#
WanderingBook
#
WanderingBird
#review
#รีวิวหนังสือ
WanderingBook
Report
Views
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆ
–
WanderingBook
View Story
subscribe
Previous
Next
Comments
()
Facebook
(
0
)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in
ยืนยันการซื้อ ?
เหรียญที่มีตอนนี้: null
มีเหรียญไม่พอซื้อแล้ว เติมเหรียญกันหน่อย
เหรียญที่มีตอนนี้ : null
Please Wait ...
ซื้อเหรียญเรียบร้อย
เลือกแพ็คเกจเติมเหรียญ
20
20 บาท
50
50 บาท
100
100 บาท
300
300 บาท
500
500 บาท
เลือกวิธีการชำระเงิน
Credit Card
Cash @Counter
Line Pay
ระบบจะนำคุณไปสู่หน้าจ่ายเงินของผู้ให้บริการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in