เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยเล่นจนเป็นเรื่อง: รวมบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเขียนเรื่อง 2019 และ 2022อ่าน-คิด-เขียน
วัยเกษียณก็มิอาจหยุดยั้ง หากหัวใจยังเพรียกหา “ประชาธิปไตย”

  • บทสัมภาษณ์คุณป้าหมวกแดง สตรีวัย 74 ปี ที่ยังคงสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน 

    บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

              เมื่อคราวเกษียณ แต่จิตวิญญาณยังคงเรียกหาถึงประชาธิปไตย “คุณป้าหมวกแดง (นามสมมุติ) ยังคงยืนหยัดขึ้นสู้ หากมองภายนอกป้าหมวกแดงก็เป็นเพียงสตรีวัยเกษียณที่ชอบมาเยี่ยมลูกหลานพร้อมหอบหิ้วอาหารหรือขนมที่ดีต่อสุขภาพติดไม้ติดมือมาฝากเสมอ แต่อีกบทบาทหนึ่ง คุณป้าเป็นนักสู้ เป็นคนเสื้อแดง เป็นผู้ต่อต้านรัฐประหาร และเป็นผู้ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยในฝันของตัวเอง


              คุณป้าหมวกแดง ปัจจุบันอายุ 74 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ครั้นจบการศึกษา คุณป้าก็ได้เข้ารับราชการ พอทำงานได้ประมาณ 1-2 ปี ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่ Michigan State University (MSU)  ณ มลรัฐมิชิแกน ในสาขา sociology (สังคมวิทยา) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังสำเร็จการศึกษา คุณป้าก็กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรงกับช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519   ต่อมา คุณป้าได้ย้ายไปทำงานที่กระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ


    คุณป้าหมวกแดงขณะโชว์เสื้อ “เสรีภาพ เสมอภาค มนุษยธรรม”

    คุณป้าหมวกแดงขณะสนทนากับผู้สื่อข่าวภาคสนาม
    ขอบคุณที่มา  https://www.facebook.com/bangkokpost/videos/461234741459674  (นาทีที่ 24.31-27.20)

              คุณป้าหมวกแดงมีวีรกรรมที่ใครหลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านหน้าไทม์ไลน์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ  คลิปสตรีสูงวัยสวมหมวกสีแดงกำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภาคสนามของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และถามนักข่าวกลับว่า  "นี่ใช่สื่อที่อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยหรือเปล่า?”  พร้อมทิ้งท้ายว่า “ตอนยุคเสื้อแดง ป้ายังอ่านอยู่นะ แต่ตอนหลังเลิกอ่านไปแล้ว” 

              เมื่อเราถามถึงเหตุการณ์ในวันนั้น คุณป้าหัวเราะออกมาเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวว่า 

              “ช่วงการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ตอนนั้นป้าเองก็ยังไม่ได้รู้ว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมไม่มีข่าวม็อบของคนเสื้อแดงในหน้าหนังสือพิมพ์สักฉบับ พอย้อนกลับไปช่วงรัฐประหารสมัยทักษิณ ปี 2549 ที่คนจำนวนมากออกไปประท้วงกันที่สนามหลวงตั้งแต่สองสามวันหลังการรัฐประหารโดยสนธิบัง (สนธิ บุญยรัตกลิน) [1] ป้าเองก็เข้าร่วมด้วยเช่นกัน ปรากฏว่า ก็ไม่มีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์สักฉบับด้วยเหมือนกัน ยิ่งในยุคนั้นที่ไม่มีโซเชียล คนส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ป้าเองก็ด้วย”
      
              คุณป้าก็พูดด้วยน้ำเสียงผิดหวังว่า 

              “สื่อควรจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและเป็นกลาง แต่ทำไมถึงไม่เล่นข่าวการเมืองเลย ทำให้พอเจอนักข่าวถึงได้บอกไป และความจริงไม่ได้เลิกอ่านแค่บางฉบับ แต่เลิกอ่านเกือบทุกฉบับเลย”

              นอกจากนี้คุณป้ายังเสริมอีกว่า “ยิ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ก็ยิ่งควรวางตัวเป็นกลางและนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้คนต่างชาติได้รับรู้ด้วย ทำหน้าที่แทนหนังสือพิมพ์ไทยที่ไม่ยอมลงข่าว อย่างน้อยก็แค่ให้ชาติอื่นรับรู้ว่าที่ประเทศไทยยังมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอยู่ แต่เขาก็ไม่ลง ความจริงป้าก็แค่แซวเขาเล่นเท่านั้น” และคุณป้าก็พูดอีกประโยคว่า “แต่จริง ๆ ป้าก็ไม่อ่านนะ” พร้อมหัวเราะไปพลาง  เราได้สอบถามคุณป้าหมวกแดงเพิ่มเติมว่า ได้ติดตามข่าวสารจากช่องทางไหนบ้าง คุณป้าตอบกลับเราว่า  “ช่วงแรกอ่านที่พันทิป ห้องราชดำเนิน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตาสว่างจากรายการของสนธิ ลิ้มทองกุล[2] เพราะแปลกใจกับคำว่า 'กู้ชาติ'  รู้สึกว่าไม่ใช่ จึงมาหาข้อมูลในพันทิป จากนั้นก็ตามอ่านในเพจของคนฝั่งประชาธิปไตย ทีวีของคนเสื้อแดง เช่น Asia update วิทยุชุมชนคลื่นสั้น และช่วงนี้ดูรายการของ Voice TV

    [1] พลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
    [2] สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีบทบาทการเมืองไทยช่วง  2548-2552



    ความหมายของวัยเกษียณ

              เมื่อถามถึงวัยเกษียณ คุณป้าหมวกแดงเล่าว่า “เกษียณอายุราชการก่อน 1 ปี (early retire) เมื่อปี 2549  ตอนที่ออกมามีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอยู่  แต่ยังไม่มีเสื้อแดง”   เมื่อเราถามถึงความหมายของวัยเกษียณ คุณป้าตอบเราว่า

               “แทนที่เราจะอยู่บ้านเลี้ยงหลานหรืออยู่บ้านเฉย ๆ ก็ได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งป้าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารตอนนั้นเลย” 

               คุณป้ายืนยันเสียงหนักแน่นกับเราว่า “ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ไม่เคยเห็นด้วยกับการรัฐประหารอยู่แล้ว” 




    เหตุผลที่เข้าร่วมชุมนุม

              คุณป้าหมวกแดงทำสีหน้าครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนจะตอบว่า “อาจจะไม่ใช่แค่เพราะเรียนรัฐศาสตร์ แต่เป็นเพราะอายุเราที่เห็นเหตุการณ์การเมืองต่าง ๆ มาตลอด รวมถึงเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์และสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก  หรือถ้าจะให้ระบุก็ตั้งแต่ยุคควง อภัยวงศ์ [3] และตอนนั้นก็มีสนใจพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ้าง”


    [3] พันตรีควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย และผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์

            คุณป้าอธิบายถึงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองว่า 

             “ด้วยความที่ติดตามการเมืองมาตลอดก็รู้สึกเลยว่า ไม่เคยชอบรัฐประหารและทำให้มองเห็นว่า รัฐประหารไม่ได้ช่วยให้ประเทศดีขึ้น การที่ทหารเข้ามาบริหารประเทศไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร มิหนำซ้ำยังมาโกงให้เห็น ๆ ซึ่งตัวป้าก็เห็นตัวอย่างจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวการเมือง อย่างเรื่องของจอมพลสฤษดิ์ที่พอเสียชีวิตแล้วก็มีสมบัติเยอะเป็นพันล้าน ตลอดจนมายุคถนอมและประภาสก็มาฉีกรัฐธรรมนูญอีก”

      
             คุณป้าได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า “ตัวป้าเองก็รู้ว่า ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ชอบอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ป้าไม่ชอบอีกคือ การคอรัปชั่นและการใช้อิทธิพลทางการเมืองของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร[4] ปี 2516 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงก่อนท่ี่ป้าจะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโท  และจากเหตุการณ์นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งนำโดยคุณธีรยุทธ บุญมี [5] ก็ได้ออกมาต่อต้าน และหนังสือพิมพ์ก็พากันลงข่าวเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วหลังจากนั้นไม่นานป้าก็ต้องเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ”


    [4] เหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2516  พบซากสัตว์จำนวนมากและหลักฐานการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นฉนวนให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในลำดับต่อมา
    [5] ธีรยุทธ บุญมี ในขณะนั้นเป็นสมาชิกก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือขอรัฐธรรมนูญคืนจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอมกิตติขจร  ธีรยุทธเป็น 1 ใน 11 คนที่ถูกตำรวจสันติบาลจับกุมไป ก่อนจะถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา


    นักเรียนไทยในต่างแดนกับการเมืองไทย

              เมื่อเล่าถึงตรงนี้ก็เหมือนว่า เรื่องราวของการเมืองไทยกับคุณป้าหมวกแดงจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ด้วยระยะห่างของเวลาและสถานที่  แต่ความจริงแล้วไม่ใช่  เพราะคุณป้ายังคงติดตามข่าวคราวการเมืองไทยเสมอมา คุณป้าเล่าประสบการณ์ของนักเรียนนอกในช่วงบ้านเมืองระส่ำระสายไว้ว่า

              “ตอนที่เกิดเหตุการณ์  14 ตุลาคม 2516  ในยุคนั้นด้วยการสื่อสารที่ลำบากทำให้กว่าจะรู้ข่าวก็นานพอสมควร แต่ก็ตามเรื่องนี้ตลอด ทำให้เห็นเลยว่า ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับถนอมและประภาส แล้วเริ่มมีการขุดคุ้ยพฤติกรรมต่างๆ ของถนอม ประภาส และครอบครัว แถมโหมด้วยการกระทำของลูกชายเขาอีก”

              “ในหมู่นักเรียนไทยเองแม้ไม่ได้มีขบวนการอะไร แต่ทุกคนก็เอาข่าว หรือจดหมายที่พ่อแม่หรือแฟนส่งมาให้ มาอ่าน มาแชร์กันในกลุ่มเพื่อน และมีการรวบรวมเงินส่งมาช่วยนักศึกษา แต่สิ่งที่ป้าจำได้คือ พวกเราในยุคนั้นไม่ชอบถนอมกับประภาสเพราะเขาอยู่มานานเป็นเวลา 10 ปี แม้จะไม่โหดเท่าเผด็จการยุคนี้ หรือบางทีอาจเป็นเพราะป้าอายุน้อยไป รวมถึงสามารถรับข่าวสารได้แค่ทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น"  

             คุณป้าหมวกแดงได้ย้ำทิ้งท้ายกับเราว่า ถึงอย่างไรก็คงไม่โหดเท่าเผด็จการในยุคนี้ที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาควบคุมประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน

    จุดเริ่มต้นการเป็นเสื้อแดง

              จากประวัติของคุณป้าหมวกแดงที่เป็นนักเรียนนอก เป็นชนชั้นกลาง และทำงานในวงการข้าราชการ มิหนำซ้ำยังเป็นคนรุ่น baby boomer  ซึ่งส่วนใหญ่มักมีขั้วทางการเมืองแตกต่างจากคนเสื้อแดง ทำให้เราต้องฉงนว่า ทำไมคุณป้ากับความเป็นเสื้อแดงถึงมาบรรจบกันได้ คุณป้าเองก็ไม่ปล่อยให้เราต้องสงสัยนาน  

              ตอนเกษียณยังไม่มีเสื้อแดง แค่เป็นคนที่ออกไปต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ป้าบอกได้เลยว่า ตัวเองเป็นเสื้อแดงยุคเริ่มต้น ตั้งแต่ยังไม่มีเสื้อแดง ซึ่งในยุคนั้นมีคนที่ป้าได้ยินชื่อมาบ้างอย่างคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข [6] และคุณสุชาติ นาคบางไทร[7] จากห้องราชดำเนินในพันทิปป้าก็ได้ไปอ่าน เขียนคอมเมนท์ รวมถึงตั้งกระทู้ต่าง ๆ โดยที่ตอนนั้นป้าก็ยังเล่นคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ต้องขอให้ลูกมาสอนว่า เล่นยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตั้งกระทู้คืออะไร ก็ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป”

              คุณป้ากล่าวต่อมาด้วยเสียงหัวเราะว่า ตอนแรก ๆ ก็ยังใส่เสื้อเหลืองอยู่นะ เพราะช่วงนั้นทักษิณจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2549 ที่คนใส่เสื้อเหลืองกันเยอะแยะ ตอนนั้นสนธิ ลิ้มทองกุลออกก็เริ่มออกมา ซึ่งป้าก็ไม่เห็นด้วย แล้วก็มีรัฐประหารของสนธิ บุญรัตนกลินเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ [8] ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นลง"
     

              คุณป้าเล่าด้วยน้ำเสียงติดโมโหเล็กน้อยว่า “หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ทางฝั่งทักษิณก็ใช้พรรคสำรองชื่อ พรรคพลังประชาชน โดยมีสมัคร สุนทรเวช[9] ขึ้นดำรงตำแหน่งนายก ช่วงนั้นเนี่ยสนธิ ลิ้มทองกุลก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น  มีช่องโทรทัศน์ ASTV สุดท้ายก็จัดตั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและก่อม็อบขับไล่สมัคร  ในตอนนั้นพรรคพลังประชาชนที่เราเลือกเขาไปเนี่ยก็โดนวิจารณ์อย่างหนัก  ทำให้ฝั่งเสื้อแดงซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อเรียกชัดเจนก่อตั้งวิทยุและรายการความจริงวันนี้ (Truth Today) ที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ และวีระกานต์ มุสิกพงศ์ดำเนินรายการ เพื่อตอบโต้กับฝั่งสนธิ”

    [6] สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและด้านสิทธิแรงงาน ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน(ศบร.) และเป็นประธานพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) ปัจจุบันเป็นอดีตผู้ต้องหาคดี 112
    [7] สุชาติ นาคบางไทร แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และอดีตผู้ต้องโทษคดีมาตรา 112 
    [8] พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี
    [9] สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 9 กันยายน2551

    ตราประจำรายการความจริงวันนี้ (Truth Today)
    แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_แดงทั้งแผ่นดิน

              คุณป้ายังได้เล่าถึง "การนัดเจอกันของแฟนคลับรายการความจริงวันนี้"  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ 

              “หลังจากนั้นไม่นาน พอรายการนี้เริ่มมีคนดูมากขึ้นก็มีจัดงานพบปะกันพร้อมใส่เสื้อแดงที่ธันเดอร์โดม และป้าเองก็มีโอกาสไปที่งานครั้งนั้น”


    ภาพเหตุการณ์ที่การรวมตัวของคนเสื้อแดงที่ธันเดอร์โดม
    แหล่งที่มา http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2012/05/P12135347/P12135347.html

              คุณป้าหมวกแดงเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตัน แววตาเต็มไปด้วยความสุขว่า 

             “ในงานพบปะครั้งนั้น ตอนที่เห็นคนไปกันแน่น รู้สึกปลื้มที่มีคนต่อต้านพันธมิตร ตอนนั้นคือขนลุกมาก แน่นทั้งในและนอกธันเดอร์โดม ตอนนั้นป้าเองก็อาศัยความตัวเล็กเบียดคนเข้าไปจนไปอยู่บนแสตนด์ คนแน่นขนาดที่ตัวป้าเองต้องยืนขาข้างเดียว มองไปทางไหนก็มีแต่คนสวมเสื้อแดง แล้วบนเวทีก็มี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ จักรภพ เพ็ญแข [10] ซึ่งป้าชอบจักรภพ เพ็ญแขที่สุด เพราะเขาพูดดี ให้ความรู้ และมักจบท้ายตัวการเขียนกลอน”  

                และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของคนเสื้อแดงและการเป็นคนเสื้อแดงของคุณป้าหมวกแดง


    [10] จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัครสุนทรเวช และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร 

    การชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553

              เมื่อพูดถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณป้าก็หวนรำลึกถึงอดีตและเล่าว่า

             “การชุมนุมตอนนั้นมีทั้งที่ราชดำเนินและราชประสงค์ ตอนที่ชุมนุมอยู่ที่ราชดำเนิน ป้าก็ได้เดินทางไปเข้าร่วมชุมนุมทุกวัน ปรากฏว่าตอนนั้นเป็นยุคอภิสิทธิ์ที่จะมีการสลายการชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่ต่าง ๆ คนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมก็จะมีกิจกรรมเยอะมาก เช่น การกรีดเลือดแล้วเอาไปเทที่หน้าบ้านนายกฯ ”
      
               “จนกระทั่งเหตุการณ์เริ่มงวดเข้า แกนนำก็ย้ายจากราชดำเนินไปราชประสงค์เพราะมีข่าวจะสลายการชุมนุม ป้าเองก็รีบเดินทางไปเข้าร่วมทันทีที่ได้ข่าวพร้อมเพื่อน แต่พอเดินทางไปครึ่งทางก็รู้ว่าโดนหลอก เพราะมีการสลายการชุมนุมที่ราชดำเนินแทน เมื่อไปถึงที่ราชประสงค์ก็ไม่ได้ย้อนกลับมาที่ราชดำเนิน อยู่ด้วยกันกับแกนนำหลักส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ที่ราชประสงค์หมด เช่น วีระกานต์ ณัฐวุฒิ จนกระทั่งมีข่าวการยิง แก๊สน้ำตาต่าง ๆ แกนนำก็ได้มีการระดมพลไปสมทบที่ราชดำเนินว่า 'ใครอยากไปราชดำเนินให้ลุกขึ้น' ซึ่งป้าเองก็ลุก แต่เพื่อนรั้งไว้เพราะตัวป้าและเพื่อนเองก็อายุมากแล้ว ทำให้ต้องตัดสินใจรอฟังข่าวที่ราชประสงค์”

              เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ น้ำเสียงของคุณป้าก็เศร้าลงเล็กน้อย “รู้สึกเสียดายมากที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาของตัวเอง ได้แต่มาตามอ่านจากในหนังสือพิมพ์ทีหลัง แต่บนเวทีก็จะมีรายงานข่าวเป็นระยะ พอมีคนตายคนแรก บนเวทีก็จะพูดว่า 'มีคนตายหนึ่งคนแล้ว อภิสิทธิ์อยู่ไม่ได้แล้ว' แล้วก็พูดด้วยสีหน้าหดหู่ใจว่า 'แต่เขาก็อยู่ได้ และเขาก็สามารถฆ่าคนต่อไปได้อีกถึง 20 กว่าคน' "

               คุณป้าหมวกแดงก็กล่าวย้ำอีกครั้งว่า “เสียดายมากที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ราชดำเนินวันนั้น”

    อุปกรณ์ประจำตัวของป้าหมวกแดงเวลาเข้าร่วมการชุมนุม


    หัวใจสลาย ณ วันสลายการชุมนุมราชประสงค์ปี 2553

              คุณป้าหมวกแดงเองก็เป็นส่วนหนึ่งของอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญเมื่อปี 2553 ที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ คุณป้าเริ่มเล่าถึงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่เดินเท้าย้ายการชุมนุมจากราชดำเนินมาอยู่ที่ราชประสงค์  คุณป้าได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ราชประสงค์ทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพราะด้วยวัยเกษียณที่มีเวลาว่าง ประกอบกับความคิดที่ว่าตอนเช้าและตอนกลางวันจะไม่ค่อยมีคน พอตกตอนเย็นก็กลับบ้านมาอาบน้ำ แต่งตัว แล้วก็กลับเข้าไปใหม่อีกรอบ
      
              เสียงของคุณป้าเริ่มจริงจังมากขึ้น “พอเหตุการณ์เริ่มงวดขึ้น แม้คนเสื้อแดงจะโดนสลาย แต่ฆ่าไม่ตาย คนเสื้อแดงก็ยังก่อม็อบกันได้ที่ราชประสงค์ จากนั้นก็เริ่มมีข่าวจะสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มีปฏิบัติการทหารมาล้อม มีการยิงแถวราชปรารภ และปิดราชประสงค์ไม่ให้คนเข้า”

              จากสถานการณ์อันตึงเครียดนี้ ทำให้คุณป้าต้องติดตามข่าวจากหลายช่องทางของคนเสื้อแดงเพื่อหาทางเข้าไปยังสถานที่ชุมนุม คนเสื้อแดงหลายกลุ่มที่เข้าไปในสถานที่ชุมนุมไม่ได้ ต้องกระจัดกระจายไปอยู่แถวอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บ่อนไก่ ราชปรารภ ส่วนตัวคุณป้าก็ไปอยู่แถวพระราม 4

              “ก่อนหน้าวันที่ 19 พฤษภาคมก็เป็นบรรยากาศที่น่าเศร้า เพราะเริ่มมีการยิงกันบริเวณรอบที่ชุมนุม แล้วป้าก็จะได้ยินแกนนำประกาศบนเวทีว่า วันนี้มีคนตายที่ราชปรารภ วันนี้มีคนตายที่บ่อนไก่ และก็วันที่เสธ.แดง[11] ถูกยิงเสียชีวิต ป้าเองก็อยู่ในวันนั้น แม้จะไม่ได้เห็นกับตา แต่ก็ได้ยินเสียงคนพูดกันว่า เสธ.แดงถูกยิง แกนนำบนเวทีพูดว่า 'ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรมาก พาเสธ.แดงไปโรงพยาบาลแล้ว' เพราะกลัวว่าพวกเราคนเสื้อแดงจะเสียกำลังใจ”

    [11] เสธ.แดง หรือ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (บิดาของ เดียร์ ขัตติยา สวัสดิผล) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิลความแรงสูง หรือสไนเปอร์ ซุ่มยิงเข้าบริเวณศีรษะด้านหลัง ณ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553


    ไร้หนทาง หมดทางช่วย เมื่อเพื่อนตายเป็นธุลีดิน

              วันที่ 17 พฤษภาคมในความทรงจำของคุณป้าหมวกแดง เต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึม มืดมิด คุณป้าได้เล่าถึงความยากลำบากของการเข้าไปยังสถานที่ชุมนุมที่ราชประสงค์แบบติดตลกว่า “มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่รู้จักกับวินมอเตอร์ไซค์ก็นัดไปกัน แล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งเขาก็เตรียมชุดขาวสำหรับใส่ปฏิบัติธรรมมาเผื่อทหารเรียก แล้วก็ได้ใช้จริง”  

              “มอเตอร์ไซค์ก็ขับพามาจากพระราม 4 จนมาถึงแถวหน้ามาบุญครอง ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 1 ทุ่มนิด ๆ เท่านั้น แต่บรรยายกาศรอบข้างกลับมืดสนิท มืดจนขนลุกไปหมด แล้วมองไปที่ไหนก็จะเจอทหารซุ่มอยู่ตามที่ต่าง ๆ พอถึงมาบุญครอง ทหารก็เรียกให้หยุดและถามว่าจะไปไหน ป้าก็ตอบไปว่า จะไปปฏิบัติธรรมที่วัดปทุมฯ ทหารถึงยอมให้เข้า”

              แม้จะเป็นเหมือนเรื่องเล่าขำขันชวนหัวเราะที่ต้องพกชุดขาวปฏิบัติธรรมไว้ในกระเป๋าเพื่อเข้าร่วมชุมนุม แต่หากอยู่ในสถานการณ์จริงท่ามกลางบรรยากาศวังเวงของใจกลางเมือง ความคุกรุ่นของการเมืองและทหารที่แอบซุ่มตามจุดต่าง ๆ ก็คงขนพองสยองเกล้าไม่ต่างจากคุณป้าเป็นแน่
      
              คุณป้าบรรยายด้วยน้ำเสียงเย็นเฉียบจนทำให้เราต้องขนลุกตาม 

              “ด้วยความมืดและทหารที่ดักซุ่มเพียงระยะทางแค่นิดเดียว แต่บรรยากาศกลับน่ากลัว น่ากลัวมาก มืดจนขนลุก รู้สึกเย็นเยือกตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตลอดชีวิต”

               คุณป้าเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยสีหน้าเศร้าหมอง  พอเข้าไปก็ยิ่งวังเวง  ภายในที่ชุมนุมทั้งโดนตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ไฟหน้าเวทีมืดสนิท และน่าเศร้ายิ่งกว่า เมื่อมีข่าวคนตายจะประกาศผ่านไมค์ แล้วคุณจิ้น กรรมาชน [12]  ก็จะร้องเพลง 'นักสู้ธุลีดิน' และคนเสื้อแดงทุกคนก็จะยืนขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ต่อด้วยณัฐวุฒิจะร้องเพลง 'เพื่อนตาย' ที่พอฟังแล้วก็ร้องไห้ เรียกได้ว่า เป็นบรรยากาศที่คนเสื้อแดงจะไม่มีวันลืม”

              “ป้าอยู่จนถึงเช้าก็หาทางออกมากับเพื่อน พอออกมาถนนก็เงียบสงบ ไม่มีรถราสักคัน มีเพียงทหารที่ยืนถือปืนซึ่งไม่เข้าใจว่าเขาทำไปเพื่ออะไร คนเสื้อแดงไม่มีอาวุธ และพวกเราก็เป็นแค่ประชาชนคนธรรมดา”   คุณป้าหมวกแดงกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสงสัย



    [12] จิ้น กรรมาชน หรือ เภสัชกรกุลศักดิ์  เรืองคงเกียรติ หัวหน้าวงกรรมาชน วงดนตรีเพื่อชีวิตที่เกิดจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในยุค 14 ตุลาคม 2516
    ลิงก์เพลง
    เพลงนักสู้ธุลีดิน https://youtu.be/Coo0FTaXHf0
    เพลงเพื่อนตาย https://youtu.be/TRWPXz1AYAk


    19 พฤษภาคม 2553 วันแห่งความทรงจำมิรู้ลืม

              เหตุการณ์ที่คุณป้าหมวกแดงเล่าไปข้างต้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงวันสองวันก่อนการสลายการชุมนุม คุณป้าเล่าต่อถึงเหตุการณ์วันสลายการชุมนุมไว้ว่า 

              “วางแผนจะกลับเข้าไปอีกรอบแต่ก็เข้าไปไม่ได้แล้ว เพราะเขาปิดเส้นทางไปชุมนุมทั้งหมด แล้วในระหว่างที่ป้ากำลังเดินทางออกก็เห็นป้ายที่แขวนอยู่หน้าวัดปทุมว่า 'เขตอภัยทาน' ป้าก็คิดว่า ถ้ามีการยิงในที่ชุมนุมจะวิ่งเข้าไปหลบในวัดปทุม กลายเป็นว่า ที่วัดกลับมีคนตายถึง 6 ศพ แต่ปรากฏว่า คนที่หนีไปทางโรงพยาบาลตำรวจได้รับการดูแลอย่างดี ส่วนคนที่หนีไปวัดกลับถูกยิง”

             “แล้วที่ตายกันส่วนใหญ่เพราะพยายามไปลากศพกลับมา เช่น คนแรกโดนยิง คนที่สองเข้าไปช่วยก็โดนยิง คนที่สามพอจะเข้าไปช่วยต่อก็โดนยิงซ้ำไปอีก มันโหดมาก และทุกคนยืนยันเลยว่า พวกที่ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้า”

              หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมจบลง คุณป้าเล่าถึงสถานการณ์หลังการสลายการชุมนุมไว้ว่า 

              “ก็ไม่มีการชุมนุมที่กรุงเทพประมาณ 1 เดือน เพราะพ.ร.ก. แต่ไปชุมนุมที่ต่างจังหวัดแทน ซึ่งป้าเองก็ได้ติดตามไปทั้งอยุธยา กาญจนบุรี   จนกระทั่งยกเลิกพ.ร.ก. ก็มีนัดชุมนุมอีกครั้งที่สนามหลวง คนก็เดินทางไปร่วมกันแน่นขนัด แกนนำใหญ่ ๆ ก็โดนจับจนหมดแล้ว”

    สติ๊กเกอร์วันอาทิตย์สีแดงและแก้วน้ำ Respect My Vote
              ความอัดอั้นของคนเสื้อแดงที่ถูกกดขี่ ความโกรธแค้นของคนเสื้อแดงที่เห็นเพื่อนตายอย่างไม่เป็นธรรมถูกถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงและแววตาของคุณป้า รวมถึงผ่านกิจกรรมของคนเสื้อแดง 

              หลังจากนั้นไม่นานคนเสื้อแดงก็รวมตัวกันไปทำบุญให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่วัดปทุมและไปผูกผ้าสีแดงที่แยกราชประสงค์ รวมถึงมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกที่คนไปกันแน่นขนัด คนเสื้อแดงต่างพาระบายความโกรธแค้นที่ถูกสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม ถึงขนาดที่สมบัติ บุญงามอนงค์[13]  ผู้จัดงานก็ไม่คาดคิดว่า การรวมตัวในครั้งนั้น คนเสื้อแดงจะแสดงออกได้ถึงขนาดนี้ คุณป้าได้ให้เหตุผลว่า เพราะมวลชนทุกคนแค้นมาก ทุกคนล้วนอยู่ในเหตุการณ์ แม้จะไม่เห็นศพแต่บรรยากาศตอนก่อนสลายการชุมนุมก็เปรียบเสมือนอยู่ในสงคราม มืดสนิท ไม่มีรถสักคัน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจนมาถึงเด็กรุ่นนี้”

    [13] สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอดีตแกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)

               คุณป้าหมวกแดงยังทิ้งท้ายว่า ทุกวันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อแดงจะมีการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตทุกคนจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 จึงอยากชวนคนที่สะดวกมาร่วมงาน เพื่อที่จะได้รู้ว่า กว่าที่เราจะได้ประชาธิปไตยมา เราต้องสูญเสียไปมากแค่ไหน

              เมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งผ่านงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิต เราจึงถามความรู้สึกของคุณป้าขณะไปร่วมงาน 

               “ปกติป้าไปทุกปีก็ประทับใจทุกปี ปีนี้ก็มีคนมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่มีแต่คนเดิม ๆ ที่พอเห็นก็จะคุ้นหน้ากัน แต่ช่วง 2-3 ปีหลังเริ่มมีคนรุ่นใหม่มางานคนเสื้อแดง นอกจากนี้ยังประทับใจที่คุณจิ้น กรรมาชนมาร่วมงานและร้องเพลง 'นักสู้ธุลีดินให้ฟัง เพราะหลังจากการสลายเสื้อแดงแบบเหี้ยม ได้ยินว่า คุณจิ้นที่อยู่ในเหตุการณ์ที่คอยร้องเพลงและปราศรัยบนเวทียังคงรับไม่ได้กับเหตุการณ์ดังกล่าวและพักจากการชุมนุมไปจนไม่ได้มาร่วมงานรําลึก แต่เพิ่งมาร่วมงานปีนี้เป็นคร้ังแรกหลังจากที่หายไปนาน"

    คุณป้าหมวกแดงและผองเพื่อนคนเสื้อแดงถ่ายรูปหมู่กับคุณจิ้น กรรมาชน

    จุดยืนอันชัดแจ้งของเสื้อแดงคนหนึ่งต่อการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

              แม้คุณป้าหมวกแดงจะเป็นเสื้อแดงและกาเลือกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาเองกับมือ แต่ก็ยังแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ว่า

              “ตอนแรกคนก็ชื่นชมรัฐบาลยิ่งลักษณ์กัน แต่พอจะมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ป้าก็ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ไม่เห็นด้วยเลย มีความรู้สึกว่าทำไมถึงต้องนิรโทษพวกที่ฆ่าคนเสื้อแดงด้วย ทำไมไม่นิรโทษกรรมบางส่วน คนที่ตาย หรือนักโทษทางการเมืองที่ต้องลี้ภัย จากจุดนี้ทำให้กลุ่มกปปส.ฉวยโอกาสออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จนต้องถอนพ.ร.บ.นี้ออก”

              นอกจากนี้คุณป้ายังเล่าเรื่องขำๆ ถึงความกล้าที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองที่เห็นแย้งกับกลุ่มกปปส. หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในขณะที่คนกรุงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกลุ่มดังกล่าว คุณป้าให้ความเห็นต่อเหตุการณ์การปิดกรุงเทพ (Shut Down Bangkok) ว่า
    “มีคนนัดเจอที่ล็อบบี้ของคอนโด เขามาชวนให้ออกไปปิดกรุงเทพ ซึ่งป้าก็ตอบกลับเขาไปว่า 'ไม่ทำอะไรโง่ ๆ แบบนั้นหรอก' แล้วเดินออกมา จากนั้นก็เห็นรถที่ขนคนมาจากทางใต้เต็มไปหมด ได้ยินเสียงเป่านกหวีดดังสนั่นไปทั่ว"

              จากนั้นได้มีม็อบของคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะซึ่งมีนัยยะทางการเมือง ตัวป้าเองก็ไม่เห็นด้วยและได้กล่าวออกมาอย่างชัดเจนว่า “เซ็งมาก เพราะป้าเชื่อว่าคนเสื้อแดงที่ออกมาสู้ มาเรียกร้อง ไม่ได้สู้เพื่อใคร แต่ออกไปสู้เพราะไม่ชอบเผด็จการ”

              นอกจากมุมมองของคุณป้าหมวกแดงต่อการชุมนุมของกลุ่มกปปส. คุณป้าก็ยังแสดงจุดยืนของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีหลากหลายเฉดสี ไม่ว่าจะแดงเข้ม แดงอ่อน แต่จุดยืนร่วมใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่เอาเผด็จการ ต้องการรัฐบาลจากการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เพื่อนพ้องคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการ กระทำของรัฐ





    รัฐประหารปี 57 ที่พรากประชาธิปไตยในฝันของคุณป้าหมวกแดง

             เมื่อเราถามว่าคุณป้ารู้สึกยังไงกับรัฐประหารตอนนั้น คุณป้าก็เล่าว่า 

              “รู้สึกผิดหวังมาก การเมืองกำลังไปด้วยดี ประเทศกำลังไปด้วยดี ไทยรักไทยก็ทำได้ตามนโยบาย มี 30 บาทรักษาทุกโรค เศรษฐกิจก็เริ่มที่จะดีขึ้น แล้วสิ่งที่ป้าคิดว่า ถ้าทุกประเทศมีการเลือกตั้งติดต่อกันเกิน 4-5 ครั้งไปแล้ว จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก พอย้อนกลับไปถึงได้รู้สึกแค้นจนต้องออกไปประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่สนามหลวง และนี่ก็คือความรู้สึกที่ว่า ไม่เอารัฐประหาร” 


    คนรุ่นใหม่: ความหวังใหม่ที่จุดไฟสตรีวัยเกษียณ

              เมื่อถามถึงหัวข้อนี้ คำแรกที่คุณป้าหมวกแดงพูดขึ้นคือ “เป็นเรื่องดีๆ ที่ไม่น่าเชื่อ” คุณป้าให้เหตุผลว่า 

              “เพราะในรุ่นของป้าหรือยุคคนเสื้อแดงต้องหยุดลงหลังจากถูกฆ่าทั้งที่ราชดำเนิน ราชประสงค์ และการยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งไทยรักไทย พลังประชาชน รวมถึงแกนนำเองก็ติดคุก จนกระทั่งมีรัฐประหารยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา คนรุ่นใหม่รุ่นแรกคือ รังสิมันต์ โรม [14] ลูกเกด ชลธิชา [15] และอื่น ๆ ที่ออกไปต้านรัฐประหารก็โดนจับไป ป้าก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว พอออกจากการคุมขังก็มีการรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งป้านับว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่รุ่นแรก

              “ต่อมาก็รุ่นของพวกเด็ก ๆ ในปัจจุบัน หลังการเลือกตั้งที่โกงเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเด็กเหล่านี้เห็นว่า มีการคอรัปชั่น มีสื่อโซเชียล ได้เห็นความห่วยแตกของสังคม เผด็จการครองเมือง การเลือกตั้งที่หลอกลวงทุกคนทั่วโลก จนทำให้เด็กเหล่านี้เริ่มออกมาต่อต้านกันมากขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้เรื่องทั้งหมดผ่านสื่อ ความเป็นมาของรัฐประหาร ความเหลวแหลกต่าง ๆ จึงเกิดเป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มา”

              น้ำเสียงของคุณป้าเปี่ยมไปด้วยความหวัง ความภูมิใจ และความเอาใจช่วย 

              “ความรู้สึกของคนรุ่นป้าคือดีใจ ตั้งแต่เห็นคนรุ่นใหม่รุ่นแรกที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร แล้วจะมีป้า ๆ เสื้อแดงออกไปช่วย แม้จะน้อย แต่ป้าก็พยายามไปช่วยทุกครั้งในช่วงต้านรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พอมาปัจจุบันป้าก็ได้ออกไปช่วยทุกครั้งที่มีโอกาส” 

              เมื่อฟังจบทำให้เราหวนกลับมาคิดว่า คนรุ่นใหม่เป็นกำลังหลักของการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนรุ่นคุณป้าหมวกแดงคือหน่วยสนับสนุนที่พร้อมช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างเสมอ แม้วัยจะต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายหนึ่งเดียวกันคือ ประชาธิปไตยในฝันที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน



    [14] รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารของ คสช. และถูกดำเนินคดีปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล
    [15] ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมการเมืองผู้ต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารปี 2557  ร่วมกับรังสิมันต์ โรม คุณป้าร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2562 และปัจจุบันเป็นว่าที่ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฏรของพรรคก้าวไกล



    ประชาธิปไตยในฝันของคนวัยเกษียณ

              คุณป้าหมวกแดงกล่าวทิ้งท้ายกับเราถึง "ประชาธิปไตยในฝัน" ของคุณป้าไว้ว่า

             “คือประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้จริง เป็นประเทศที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นประเทศประชาธิปไตย  และประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง และอีกความฝันหนึ่งคือต้องการให้มีการกระจายอำนาจ โดยให้ท้องถิ่นสามารถปกครองกันเองได้ เพราะถ้าให้แต่ละท้องที่ปกครองกันเองได้ ชุมชนจะเจริญ”



    ภาพรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อปี 2556
    แหล่งที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304

    ความในใจจากวัยเกษียณถึงคนรุ่นใหม่

              และแล้วการสัมภาษณ์ก็เดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย เมื่อเราถามคุณป้าหมวกแดงถึงความในใจที่อยากบอกคนรุ่นใหม่ คุณป้าตอบอย่างรวดเร็วว่า 

             “ดีใจอย่างมากที่คนรุ่นใหม่เข้าใจคนเสื้อแดงและรับไม้ในการต่อสู้อย่างเข้มข้น จนทำให้ลุงป้าเสื้อแดงเป็นห่วง แต่ก็คอยสนับสนุนมาตลอด ไม่เคยทอดทิ้งลูกหลาน และได้แต่ขอให้รุ่นลูกหลานสู้ต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้อำนาจรัฐเป็นของประชาชน”

              เมื่อได้พูดคุยกับคุณป้าหมวกแดง เราก็มองเห็นทั้งความฝัน ความหวังและอุดมการณ์ในฐานะคนเสื้อแดงที่ยังคงยืนหยัดลุกขึ้นสู้เพื่อตามหาประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน ถึงแม้ความจริงจะไม่สวยงามอย่างที่คิด และประชาธิปไตยที่คนเสื้อแดงต่อสู้มาอย่างยาวนานอาจจะยังไม่เป็นอย่างที่หวัง แต่อย่างไรก็ตาม คุณป้าหมวกแดงก็ยังไม่หยุดฝันและหมดหวัง ทั้งยังคงไม่ยอมแพ้และลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง เพื่อทำให้ประชาธิปไตยในฝันของคุณป้ากลายเป็นจริงขึ้นมาในสักวันหนึ่ง.



    บรรณานุกรม

    ใครเป็นใคร.(2552). สมบัติ บุญงามอนงค์. สืบค้นจากhttp://thaiwhoiswho.blogspot.com/2009/
    11/blog-post_2637.html

    ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตร. (ม.ป.ป.). จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์. สืบค้นจาก http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p069.html
    ไทยพับลิก้า. (2557). สุรยุทธ์ จุลานนท์. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/jabted_people/surayud
    -privy-counclior-pm-24/

    ไทยรัฐ. (2560). รู้จัก เสธ.แดง ให้มากขึ้น นัดเดียวสั่งตาย ผ่านมาแล้ว 7 ปี. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/940478
    บีบีซีไทย. (2564). สถาบันกษัตริย์: สมยศ พฤกษาเกษมสุข กับข้อหา ม.112 ครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-55691874
    ระบบบริหารจัดการสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล. (ม.ป.ป.). นายรังสิในต์ โรม. สืบค้นจาก
    https://hris.parliament.go.th/ss_detail.php?sapa_id=82&ssp_id=21293&lang=t
    รัฐบาลไทย. (ม.ป.ป.). ควง อภัยวงศ์. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/
    primeminister/30

    รัฐบาลไทย. (ม.ป.ป.). สมัคร สุนทรเวช สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/
    primeminister/9

    สยามรัฐ. (2562). “สนธิ ลิ้มทองกุล” หวนคืนสู่อิสรภาพ. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/101427
    สำนักพิมพ์ประพันธ์สานส์ ชุมชนคนรักการอ่าน. (ม.ป.ป.). ธีรยุทธ บุญมี. สืบค้นจาก https://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/100
    หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2564). ราษฎร 2563 : ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตผู้ถูกจองจำ-ผู้เจรจากับ ตร.-ผู้ถูกไล่ให้เปลี่ยนนามสกุล. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54758289
    ANNOP. (2563). ประวัติ วงกรรมาชน (ตี้ กรรมาชน). สืบค้นจาก https://annop.me/1924/
    Voice Online. (2562). 13 ปี 19 ก.ย. 49 เส้นทางสนธิ บุญยรัตกลินที่ลิขิตเอง-วาทะ “ถ้าปฏิวัติประเทศจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/VuIisQzIW


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    ผู้ให้สัมภาษณ์: คุณป้าหมวกแดง (นามสมมติ) 
    สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์: ฟ้าไม่มีเมฆ
    บรรณาธิการต้นฉบับ: aree.n
    จัดหน้าและตรวจปรู๊ฟ: ภัทรสิงห์
    ภาพปก: pexel 
    ภาพประกอบเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์: แหมว

    บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565  #ห้องเรียนเขียน

    อ่าน-คิด-เขียน เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเหล่า content creator ฝึกหัดก่อเรื่องสร้างภาพ  มาร่วมชมและแชร์คอนเทนต์หลากรส หลายอารมณ์ไปกับเราได้เลยค่ะ  เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้ทาง line official เพื่อมิให้พลาดคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเหล่านักเรียนเขียนเรื่อง  โดยคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/CMxj3jb หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ ID โดยค้นหา @readthinkwrite2559  ได้เลยค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in