เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยเล่นจนเป็นเรื่อง: รวมบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเขียนเรื่อง 2019 และ 2022อ่าน-คิด-เขียน
The Priority List ขอบคุณที่ยังว่าง
  • บทสัมภาษณ์หมอตั้ง-นายเเพทย์ปรัชญา อินทร์หมื่นไวย                                                                                                    ผลงานนักเรียนเขียนเรื่อง จากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" เมื่อเดือนธันวาคม 2562



    " จําไว้ ถ้ามีคนพูดว่าไม่ว่างกับสิ่งใดก็ตาม ให้คิดไว้เลยสองอย่างว่า
    สิ่งนั้นมีความสําคัญต่ํ่า หรือ ไม่มีความสําคัญเลยตั้งเเต่เเรก "


    ภาพของนักศึกษาเเพทย์ฝึกหัดที่ก้าวเท้าลงจากรถไฟขบวนบุรีรัมย์-นครราชสีมาในเวลา 10 นาฬิกาตรงบ้าง ไม่ตรงบ้างของเช้าวันเสาร์มักเป็นภาพที่คุ้นชินตลอด 3 ปีสําหรับฉันเสมอ หน้าตาอิดโรย ผมชี้โด่เด่ สวมเสื้อยืดสีพื้น กางกางขายาว สวมรองเท้าหุ้มหน้าเท้าสีดำ บ้างก็มีเสื้อกาวน์สีขาวยัดลวกๆ อยู่ในกระเป๋าสะพายข้างสีเทาที่นําติดตัวมาด้วย ฉันคุ้นชินกับภาพนี้ขนาดที่ว่า เเม้รูปร่าง เครื่องเเต่งกาย สถานภาพ สถานที่ทํางาน ยานพาหนะที่ใช้รับ-ส่งของนักศึกษาเเพทย์คนนี้ได้เปลี่ยนไปกว่า 6 เดือนเเล้ว เมื่อใดตามที่เขาก้าวเท้าลงจากรถ สําหรับฉัน ภาพตรงหน้า คือ ภาพพี่ชายกลับบ้าน

    “บ้านก็คือบ้านอะ บ้านก็คือที่พักใจอย่างหนึ่ง” พี่ตั้งเคยกล่าวไว้ เมื่อถูกใครหลายๆ คนถามว่าทําไมถึงทําให้การกลับมาบ้านดูเป็นเรื่องง่ายดายนัก ทั้งที่จริงๆ เเล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอย่างที่เล่าไปข้างต้น พี่ตั้งจะกลับมาในช่วงสายๆ ของวันเสาร์ เเละจะใช้เวลาอยู่ที่บ้านไม่ถึง 15 ชั่วโมง ก่อนที่จะรีบขึ้นรถไฟกลับบุรีรัมย์ตอนตีสามครึ่งเพื่อให้ทันราวด์คนไข้ตอนหกโมงของเช้าวันอาทิตย์

    “เอาจริง มันไม่ง่ายเลยนะ กลับบ้านตอนนั้น ตอนประจําอยู่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ไหนจะต้องเรียน ไหนจะต้องสอบ ไหนจะต้องเวร พี่ต้องไปราวด์ (ตรวจเยี่ยม) คนไข้ตั้งเเต่เช้า เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องราวด์ พออยากกลับบ้าน พี่ก็เลยต้องคิดหาวิธีว่า ทําไงถึงจะได้กลับบ้าน พี่ไม่รู้ว่าคนอื่นทําไหม เเต่พี่ทํา พี่ใช้วิธีเตรียมทุกอย่างในคืนก่อนหน้า ย่อประวัติคนไข้ทุกคนที่ต้องราวด์ในเช้าวันถัดไป เพื่อที่จะหลังจาก  ราวด์เเล้วจะได้ไปขึ้นรถไฟกลับบ้านทันรอบเเปดโมง”

    ในขณะที่พ่อคอยบอกพี่ตั้งเสมอว่า "ไม่เป็นไรตั้ง ไว้ว่างๆ ค่อยกลับมาก็ได้ บ้านก็บ้านเรา ไม่หนีไปไหนหรอก" พี่ตั้งก็ยังโผล่หน้ามาให้เห็นทุกสัปดาห์อยู่ดี

    “ช่วงที่กลับบ้านก็ไม่ได้ว่างเลยหรอก หนังสือที่ต้องอ่านมันก็มี เเต่จะเรียกว่าไงดี ช่วงเวลาที่พี่ไม่ว่างเลย เเบบไม่ว่างเลยมันเยอะกว่า ช่วงเวลาไม่ว่าง ต้องทํางาน พี่ก็จะทํางาน ทําจนกว่างานจะเสร็จ เพราะรู้อยู่เเล้วว่าสุดท้ายงานจะเสร็จ ไม่ก็ตาย (*หัวเราะ*) เเต่พี่ก็จะทําให้มีเวลาว่างให้ได้ เพื่อพี่จะได้ใช้เวลา”

    ใช้เวลา ใช้เวลาไปกับอะไร




    “เหนื่อย” “ยังไม่ได้นอนเลย” “หิว” “มีอะไรกินบ้าง” มักเป็นคําพูดไม่กี่คําที่พี่ตั้ง หรือ นายเเพทย์ปรัชญา อินทร์หมื่นไวย พี่ชายของฉันวัย 24 ปีใช้ทักทายฉันเป็นประจําทันทีที่พบหน้า เมื่อถึงบ้าน พี่ตั้งจะรีบสาวเท้าไปที่โต๊ะกินข้าวเป็นอันดับเเรก ก่อนที่จะเริ่มต้นบทสนทนาสั้นๆ ถามไถ่สุขภาพกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน หลังจากจบบทสนทนา พี่ตั้งก็จะเดินไปนั่งหน้าโต๊ะคอมพิวเตอร์ กดเข้าเเอปพลิเคชัน Stream(เกมออนไลน์) เล่นไปพร้อมๆ กับพรรคพวกตนที่อยู่ในเกมอยู่ก่อนเเล้ว เกมออนไลน์ เป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมในดวงใจที่พี่ตั้งมักใช้เวลาด้วย

    “เกมก็เล่นมาเรื่อยๆ เล่นมาตั้งเเต่ประถมได้มั้ง ความสัมพันธ์พี่กับเกมก็ค่อนข้างซับซ้อน เเต่ถ้าตอนนี้ให้พี่จัดลําดับความสําคัญ (priority) พี่ให้เกมส์อยู่ลําดับศูนย์นะ ศูนย์ ความสําคัญของเกมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พี่อยากเล่น ไม่ก็มีคนชวนให้พี่เล่น ถ้าไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ความสําคัญของเกมก็จะไม่เกิด”

    “เล่นเกมที่หอ ก็ไม่เหมือนเล่นเกมที่บ้าน” พี่ตั้งเอ่ยตอบฉัน เมื่อฉันถามว่า ถ้ากลับบ้านมาเล่นเกม ทําไมไม่เล่นสบายๆ ที่หอเลย ไม่ต้องเหนื่อยเดินทางด้วย ฉันจึงคิดได้ว่า ในคําตอบของพี่ตั้ง มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น

    ตั้งเเต่ไหนเเต่ไร พี่ตั้งเเสดงให้เห็นว่า ถึงเเม้จะมี “เกม”  “บ้าน” หรือ “ครอบครัว” มักจัดอยู่ในความสําคัญลําดับต้นๆ ในชีวิตของเขาเสมอ บ่อยครั้งที่พี่ตั้งจะโทรมาหาฉันนัดเเนะวันที่เราสองคนมีเวลาว่างตรงกันมากที่สุดเเละให้ฉันกลับบ้านเพื่อพาพ่อเเม่วัยเกษียณเเละอาอี๊(ป้า)ไปกินข้าวนอกบ้านด้วยกัน ซึ่งบางครั้งเวลาว่างที่มากที่สุด อาจเป็นเเค่หนึ่งชั่วโมงในเวลาพักกลางวัน เคยไหม ที่ต้องเข้าไปในร้านสุกี้ชื่อดังเเล้วสั่งอาหารมาวางพร้อมไว้ตรงหน้า ก่อนเจ้าภาพจะมา 10 นาทีให้หลังพร้อมกับชุดสีเขียวฟ้าทั้งตัว กิน พูดคุยเเละรีบกลับไปเข้าเวรต่อในอีก 40 นาทีให้หลัง

    ด้วยภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น เวลาว่างที่ลดน้อยลง พี่ตั้งเเสดงให้เห็นความสําคัญในชีวิตผ่านการใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่ไปกับไม่กี่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า ถึงเเม้ฉันจะพบว่า พี่ตั้งเป็นคนที่ลําดับความสําคัญในชีวิตเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา

    “เมื่อก่อนหรอ ตอนเรียนปีหนึ่งถึงปีสาม เกมนี่มาอันดับหนึ่งเลย เเล้วก็กินกับเที่ยว ตอนปีหนึ่ง เนื้อหาที่เรียนมันไม่ยาก เพราะเคยเรียนมาหมดเเล้ว อาจารย์ที่สอน ก็อาจารย์กลุ่มเดิมที่สอนพี่มาตั้งเเต่มอปลาย พอปีสอง เนื้อหาวิชาก็เฉพาะมากขึ้น จะหนักจริงๆก็ช่วงปีสาม ช่วงนั้นเรียกได้ว่า เเทบจะไม่ว่างเลยมั้ง เพราะเรียนสองสัปดาห์ สอบเก็บคะเเนนหนึ่งครั้ง เเล้วยังมีสอบใบประกอบ (โรคศิลป์) กับ Comprehensive (การสอบรวบยอดวิทยาศาสตร์การแพทย์) เพื่อขึ้นปีสี่อีก ชีวิตช่วงนั้นก็จะเป็นกินบุฟเฟ่ต์ เล่นเกม อ่านหนังสือ”

    “พอปีสี่ ก็เริ่มเปลี่ยนละ ด้วยความที่ห่างบ้านด้วย เพราะปีหนึ่งถึงสามนี่เรียนใกล้บ้าน กลับบ้านบ่อย ถึงไม่กลับบ้านพ่อเเม่ก็เเวะไปเยี่ยมได้ เเต่พอย้ายไปบุรีรัมย์ รู้ตัวเเหละว่าเป็น homesick เมื่อมีเวลาว่างเลยวิ่งกลับบ้าน พี่ก็จะให้เวลาครอบครัวสําคัญลําดับต้นๆ เกมก็ยังอยู่นะ เเล้วก็มีออกกําลังกายที่เพิ่มเข้ามาตอนท้ายๆ”

    ถ้าพูดถึงปัจจุบัน นอกจาก “ครอบครัว” พี่ตั้งยังจัดให้ “การออกกําลังกาย” สําคัญเป็นลําดับต้นๆ เห็นได้จากรูปร่างเเละสัดส่วนที่เปลี่ยนเเปลงไปจากน้ําหนักที่หายไปกว่า 20 กิโลในระยะเวลาสองปี วันไหนที่พี่ตั้งไม่ได้ "เข้าเวร" (การที่ต้องอยู่ตั้งเเต่สี่โมงเย็น(เวลาเลิกงาน)จนกระทั่งเเปดโมงเช้าของวันถัดไป)  พี่ตั้งจะไปออกกําลังกาย ไม่สําคัญว่าวันนั้นจะเหนื่อยเเค่ไหน หลังเลิกงาน พี่ตั้งจะพาตัวเองไปออกกําลังกายเสมอ พี่ตั้งเล่าจุดเริ่มต้นของการออกกําลังกายตอนสมัยเป็นนักศึกษาเเพทย์ให้ฟังว่า

    “วันนั้น มีเด็กผู้ชายอายุ 5 ขวบกว่าๆ มาหาหมอเพราะน้ําหนักเกิน พี่ก็เลยบอกให้ไปลดน้ำหนักซะ เเม่เด็กก็พูดกับลูกว่า ใช่ ถ้าไม่ลด ระวังโตขึ้นอ้วนเหมือนหมอนะ พี่เเ-่งคิดในใจ ถ้าไม่ติดว่าเป็นเเม่ผู่ป่วยนะ ไม่ใช่ๆ (*หัวเราะ*) พี่เลยคิดว่าอยู่ไม่ได้ละเเบบนี้ ”

    ประโยคนั้นจึงเป็นเเรงจูงใจให้พี่ตั้งเสมอมา เเต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะประเด็นหลักคือ พี่ตั้งใช้เวลาในการออกกําลังกายเพื่อตอบคําถามอะไรบางอย่าง

    “มีครั้งหนึ่ง พี่ต้องอยู่เวรติดๆ กันหลายวันเพราะเพื่อนลาไปรับปริญญา 8 วัน ทําให้คนไม่พอ ตอนลงเวรครั้งสุดท้าย พี่จําความรู้สึกได้เลยว่า อีกนิดเดียวพี่จะตายเเล้ว พี่ก็เลยอยากรู้ว่าจะตายจริงๆไหม พี่เลยไปสวนสาธารณะ เเล้วพี่ก็เริ่มวิ่ง วันนั้นพี่วิ่งไป 17 โลในระยะเวลา 2 ชั่วโมงซึ่งปกติพี่วิ่งเเค่ 10 โล เเล้ววันนั้นพี่ก็รู้ว่า พี่ไม่ตายว่ะ พี่ยังไหว เวรวันเว้นวันมันไม่ทําให้ตาย (*หัวเราะ*)"

    หลังจากพี่ตั้งเล่าจบ ฉันคิดในใจ พี่ตั้งบ้าไปเเล้วเเน่ๆ เเต่นั่นก็ทําให้ฉันเริ่มสนใจที่จะสนทนากับพี่ชายตัวเองมากขึ้น จนมองเห็นสิ่งหนึ่งที่พี่ตั้งทํามาตลอด นั่นก็คือ การจัดลําดับความสําคัญในชีวิตภายใต้เสื้อกาวน์ของตนเอง เมื่อมีโอกาสจึงได้ถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตการทํางาน เพราะเท่าที่รู้จักกันมาทั้งชีวิต พี่ตั้งเป็นคนที่ถ้าทุ่มเทให้กับอะไรเเล้ว จะทุ่มให้กับสิ่งนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอ พี่ตั้งไม่ใช่คนขยัน ออกจะขี้เกียจด้วยซ้ําไป เเต่จะเป็นคนที่ทําให้เห็นว่า เวลามากน้อยไม่สําคัญ ขึ้นอยู่กับใช้เวลาตรงหน้าคุ้มค่าหรือไม่ ครั้งหนึ่งฉันเคยโทรศัพท์ไปหาพี่ตั้งเเล้วร้องไห้ ด้วยเหตุผลที่ว่าอ่านหนังสือสอบไม่ทัน พี่ตั้งนั่งฟังฉันอย่างเงียบๆ เเละบอกให้ฉันทําสิ่งเดียว คือ นับชั่วโมงบนหน้าปัดนาฬิกาว่าเหลืออีกกี่ชั่วโมง กี่นาทีจนกว่าจะสอบ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า นั่นไง เต็งมีเวลา พี่อยู่เวรต่อละ สู้ๆ เเละการสอบครั้งนั้น เเละเเล้วฉันก็ผ่านมันไปได้



    การตั้งใจทํางานให้แล้วเสร็จเพื่อจะได้มีเวลาว่างของพี่ตั้ง บางครั้งก็อาจทําให้พี่ตั้งดูขัดเเย้งกับภาพลักษณ์ของการเป็นคนทุ่มเท พี่ตั้งเองก็ยอมรับว่า สําหรับการเป็นหมอเเล้ว ณ ตอนนี้ ความคิดต่างๆของเขาเริ่มเปลี่ยนเเปลงไป

    “คือนอกจากทุ่มเทเรื่องงานแล้ว พี่คิดว่าคนเราควรต้องทุ่มเทให้กับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องงานด้วย”

    “มันมีครั้งหนึ่งที่พี่รับเวรต่อจากหมอคนอื่น เเล้วมีคนไข้เป็นเด็กประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งพยาบาลเเจ้งว่า จริงๆเเล้ว คนไข้คนนี้มาหาหมอเเล้วเมื่อวานเเละมีนัดหาหมอเฉพาะทางตอนเช้า เเต่มาไม่ทัน เลยต้องมาเจอพี่ตอนบ่าย พี่ก็เลยซักประวัติเพื่อจะสั่งยาเพิ่มเเละทำนัดให้ใหม่ ผู้ปกครองน้องด้วยความเป็นห่วงลูก อยากให้พบหมอเฉพาะทางเร็วๆ เขาก็เหมือนไม่พอใจที่พี่ต้องซักประวัติน้องใหม่ สุดท้ายเลยตะโกนลั่นห้องว่า หมอจะเอายังไง พร้อมกับทําท่าเหมือนจะเข้ามามีเรื่อง พี่ก็ได้เเต่บอกเขาว่า ใจเย็นๆ ครับ คือเข้าใจไหม ว่าตรงนั้นมันไม่มีใครเลยเว้ย มีเเค่พี่ เด็กเเละผู้ปกครอง คนอื่นๆ อยู่นอกห้องตรวจกันหมด เมื่อคืนพี่ก็เเทบจะไม่ได้นอนเลย พี่เลยต้องขอตัวไปตามเเฟ้มประวัติ พร้อมทั้งสั่งยาเเละทํานัดให้น้องเขาใหม่ พอสี่โมงเย็นพี่คิดว่าพี่ไม่ไหวละ ตัดสินใจกลับบ้าน”

    “ตอนนั้นมันสุดๆ เลยนะ กินข้าวก็ไม่ค่อยได้กิน เวลานอนก็เเทบไม่มี บ้านก็ไม่ได้กลับ ถึงขนาดบอกเเม่ว่าลาออกได้เลยนะ ลาออกไปเป็นหมอ part-time รับอยู่เวรห้องฉุกเฉินอาทิตย์ละ 3 วันก็น่าจะอยู่ได้”

    จากวันนั้นก็ผ่านมากว่า 6 เดือนเเล้ว ที่ฉันได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายที่โทรมาเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว น้ำเสียงพี่ตั้งวันนั้นเจือปนไปด้วยความเสียใจ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉันเคยเอ่ยถามพี่ตั้งว่า ถ้าต้องเหนื่อยขนาดนี้ ทําไมถึงยังอยู่

    “ก็มันเรียนมาเเล้ว เคยได้ยินเเหละว่าเรียนหมอมันหนัก เเต่ถ้าพี่รู้ก่อนมันหนักขนาดนี้ พี่หนีไปนานเเล้ว ไม่เรียนดีกว่า(*หัวเราะ*)ไม่ใช่หรอก มันยังไม่ถึงจุดเปลี่ยน พี่คิดว่าพี่ยังไหว เหนื่อยก็เหนื่อย    เเหละ เเต่ในความเหนื่อยนั้น พี่ก็ยังหาเวลาว่างให้ตัวเองได้อยู่ เเม้จะนิดๆ หน่อยๆ ก็เถอะ เห็นอย่างงี้ พี่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองไม่ว่างขนาดนั้น ถ้าพี่รู้ตัวว่าพี่ไม่ว่างเลยต่างหาก พี่ก็คงลาออกไปเเล้ว”

    คําพูดพี่ตั้งทําให้ฉันกลับมาย้อนมองตัวเองที่มักจะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ว่าง ซึ่งจริงๆเเล้ว ฉันว่างมาก ว่างกว่าพี่ตั้งประมาณร้อยเท่า ฉันไม่เคยนั่งกินข้าวหน้าห้องผู้ป่วย ฉันไม่เคยเป็นหมอหิวโซที่เวลากลับบ้านต้องเเวะซื้อข้าวเหนียวไก่ปิ้งข้างทางกินก่อนเพราะเป็นอาหารที่เร็วที่สุดที่หาได้ ฉันไม่เคยสวมนาฬิกาที่ดังเเจ้งเตือนตารางงานตลอดเวลา ฉันไม่เคยต้องขอเเลกเวรกับเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัวในวันปีใหม่เเละในขณะเดียวกันก็เป็นวันเกิดพ่อ  ฉันไม่เคยต้องเข้าเวรในวันเกิดตัวเอง เเละฉันไม่เคยวิ่ง 17 กิโลเมตรเพื่อทดสอบร่างกายตัวเอง  เวลาว่างระหว่างฉันกับพี่ตั้งนั้นช่างเเตกต่างกัน เเละเมื่อมานึกๆดูเเล้ว ไม่ใช่เเค่ฉันคือฉัน พี่ตั้งคือพี่ตั้ง เวลาว่างที่ให้กับสิ่งต่างๆ ต่างหาก คือสิ่งที่ทําให้เราต่างกัน

    “ว่างกับไม่ว่าง สําหรับพี่ ขึ้นอยู่กับว่า ความสําคัญของสิ่งนั้นคืออะไร ถ้าอะไรมีความสําคัญมากกว่า พี่ก็จะมีเวลาให้กับสิ่งที่พี่คิดว่าสําคัญเสมอ คิดง่ายๆ ถ้ากินข้าวอยู่ เเล้วมีคนไข้หอบ พี่ก็ต้องเลือกไปดูคนไข้ คือขึ้นอยู่กับว่าความสําคัญอะไรมันมากกว่ากัน พี่ว่าถ้าเรียงลําดับชีวิตตรงนี้ได้ ชีวิตก็น่าจะโอเค เเล้วพี่ก็จะมีเวลาให้กับสิ่งที่พี่คิดว่าสําคัญมากกว่าเสมอ จําไว้ ถ้ามีคนพูดว่าไม่ว่างกับสิ่งใดก็ตาม ให้คิดไว้เลยสองอย่างว่า สิ่งนั้นมีความสําคัญต่ํ่า หรือ ไม่มีความสําคัญเลยตั้งเเต่เเรก”

    สําหรับฉัน ฉันคิดว่าพี่ตั้งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เเสดงให้เห็นว่า ได้ใช้เวลาในเเต่ละนาทีไปอย่างคุ้มค่า ทั้งเวลาที่ว่างเเละไม่ว่างของตนเองที่หมดไปกับการให้คนไข้ คนรอบข้าง รวมไปถึงตัวเองอย่างรักษาสมดุล สุดท้ายนี้ ฉันอยากบอกว่า ฉันดีใจมาก ที่ได้เป็นหนึ่งในคนสําคัญที่พี่ชายคนนี้มีเวลาว่างให้เสมอ

    บทสัมภาษณ์นี้มอบให้นพ. ปรัชญา อินทร์หมื่นไวยเนื่องในวันรับปริญญา




    ผู้ให้สัมภาษณ์ : นพ. ปรัชญา อินทร์หมื่นไวย

    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ปวีณอร อินทร์หมื่นไวย

    ภาพประกอบ : นพ. ปรัชญา อินทร์หมื่นไวย


    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชาศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2562


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in