เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยเล่นจนเป็นเรื่อง: รวมบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเขียนเรื่อง 2019 และ 2022อ่าน-คิด-เขียน
มนุษย์อินโทรเวิร์ต กับความท้าทายที่ต้องพุ่งเข้าใส่
  •                บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง จากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" เมื่อเดือนธันวาคม 2562


    หากจะพูดถึงวิธีการจัดประเภทคนออกเป็นกลุ่มตามลักษณะเด่น มาตรฐานหนึ่งที่คนส่วนมากนึกถึงคงหนีไม่พ้นการจัดประเภทตามลักษณะนิสัยการแสดงออก หรือหากจะให้เฉพาะเจาะจงไปมากกว่านั้น คือการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) และกลุ่มคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) 

    ว่ากันตามความหมาย กลุ่มคนอินโทรเวิร์ต คือ กลุ่มคนที่สามารถรับสิ่งเร้าได้ในระดับดีถึงดีมาก คนกลุ่มนี้จึงเกิดความรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายเมื่อต้องออกไปพบเจอผู้คนเยอะ ๆ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเจอแสง สี เสียงอยู่เป็นเวลานาน ในขณะที่กลุ่มคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตจะสามารถรับสิ่งเร้าได้ในระดับต่ำกว่าจึงทำให้สามารถรับมือกับสิ่งเร้าภายนอก หรือแสง สี เสียงได้ดีกว่าคนอินโทรเวิร์ต คุณสมบัติเหล่านี้จึงมีส่วนทำให้คนทั้งสองกลุ่มมีลักษณะนิสัยที่เป็นขั้วตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือ คนอินโทรเวิร์ตมักจะเป็นพวกที่ชอบความสงบและไม่ค่อยเข้าสังคม ในขณะที่คนกลุ่มเอ็กซ์โทรเวิร์ตจะดูเป็นมนุษย์สังคมจ๋ามากกว่า

    จริงอยู่ว่าลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าลักษณะนิสัยส่วนบุคคลเลย แต่ในโลกปัจจุบันที่การติดต่อสื่อสารและการเข้าสังคมกลายเป็นทักษะสำคัญที่แต่ละบุคคลต้องพกติดตัว มนุษย์อินโทรเวิร์ตผู้รักสันโดษจึงกลายเป็นกลุ่มคนผู้ถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า ทำไมถึงกินข้าวคนเดียว ใช้ชีวิตแบบนี้ไม่เหงาบ้างหรือ? 

    “ไม่อ่ะ เราไม่เหงา เราอยู่ได้ เราโอเค เราชอบ” 

    สุนทรี ตอบกลั้วเสียงหัวเราะขณะกำลังบอกเล่าประสบการณ์ในฐานะมนุษย์อินโทรเวิร์ตผู้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกแห่งการทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารตลอดเวลาจนแทบไม่ค่อยมีเวลาได้พักผ่อน

    เราเงียบเกินไปไหม? เราน่าจะลองชวนคนอื่นคุยให้มากขึ้นหรือเปล่า? สุนทรี บรรลือเขตต์ หรือ กล้วย ประกอบอาชีพเป็นนักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  ก็เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับคำถามว่าด้วยความรักสันโดษของตนเองอยู่บ่อยครั้ง คำถามที่ว่านี้ไม่ได้มาจากบุคคลรอบตัวของเธอเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่ง มันยังดังมาจากตัวของเธอเอง ณ ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ความเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตปะทะเข้าอย่างจังกับความใฝ่ฝันช่วงหลังเรียนจบใหม่ นั่นคือ การเป็นนักกายภาพบำบัดชุมชนที่การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยนับเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการทำงาน


    “เรารู้จักงานนักกายภาพครั้งแรกตอนอยู่มัธยมปลาย ตอนนั้นสนใจด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้วด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรียนกายภาพน่าจะดี...ซึ่งมันก็ไม่ได้ขนาดนั้น (หัวเราะ) ตอนเริ่มเรียนก็รู้สึกแล้วแหละว่าจริง ๆ มันเป็นงานที่ไม่เหมาะกับนิสัยเราเท่าไหร่ เพราะมันเป็นงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนตรง ๆ เลย แต่เราคิดว่ากายภาพเป็นวิชาชีพที่ดี และเราก็ได้เจออาจารย์ที่ดีเป็นต้นแบบให้เราด้วย เราก็เลยพยายามมาตลอด” (ยิ้ม)

    “ตอนเรียนจบใหม่ ๆ เราคิดว่างานนักกายภาพบำบัดในชุมชนน่าจะเหมาะกับตัวเรามากกว่าการทำงานในโรงพยาบาลนะ ตอนนั้นเราคิดว่า ถ้าเราทำงานในโรงพยาบาล เราจะต้องติดต่อกับคนอื่นเยอะกว่า เช่น กับหมอ พยาบาล เพื่อนนักกายภาพ คนไข้ แล้วก็ญาติคนไข้อีก แต่ในการทำงานในชุมชน เราก็ไปที่บ้านคนไข้ เราเจอแค่คนไข้กับญาติแค่นั้น เราเลยคิดว่ามันน่าจะทำให้เราเกร็งน้อยลง ตรงนี้ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกงานภายถาพบำบัดในชุมชนเป็นงานที่เราอยากทำมากที่สุดในตอนนั้น”

    กล้วยยอมรับกับเรายิ้ม ๆ ว่า การตัดสินใจของเธอในช่วงเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ เป็นไปเพื่อตามหา
    คอมฟอร์ตโซนในโลกแห่งการทำงาน สำหรับมนุษย์อินโทรเวิร์ตเช่นเธอ การทำงานที่ไม่ต้องพบปะผู้คนมาก แถมยังเป็นสายงานที่ตรงกับความชอบส่วนตัวคงนับเป็นงานในฝันเลยทีเดียว

    ติดอยู่ก็อย่างเดียวตรงที่ชีวิตจริงไม่ได้เรียบง่ายเหมือนเรื่องราวในความฝันนี่นะ เพราะถึงแม้ว่าการทำงานกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนโดยตรงทำให้กล้วยลดการพบเจอเพื่อนร่วมงานจำนวนมากไปได้บ้าง  แต่สิ่งที่เธอต้องแลกมาก็นับเป็นค่าตอบแทนราคาสูงสำหรับเธอเช่นกัน

    Reflex Hammer: ค้อนเคาะเข่า
    Goniometer: ที่วัดองศาข้อต่อ
    Stethoscope: หูฟังทางการแพทย์
    "จริง ๆ การทำกายภาพทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชนก็ไม่ต่างกันมาก คือเราต้องเข้าไปทำกายภาพให้เขา แนะนำเขากับญาติว่าต้องทำท่าอะไรบ้าง เช่น ต้องทำท่านี้นะถึงจะมีแรงลุกขึ้นยืน ต้องยกก้นนะ เวลายืนก้นจะได้ไม่หย่อน แล้วเราก็จะมีความพยายามโน้มน้าวให้เขากลับไปทำกายภาพต่อด้วยตัวเองด้วย แต่การไปทำชุมชน เราต้องใช้ทักษะการพูดโน้มน้าวการชักชวนมากกว่าการทำงานในโรงพยาบาล เพราะมันเป็นงานที่เราต้องเข้าไปหาคนไข้ก่อน"

    “การทำกายภาพคนไข้ในชุมชนเป็นบริการที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ เราจะได้รับรายชื่อคนไข้ชุมชนมาจากโรงพยาบาลแล้วก็ศูนย์บริการสาธารณสุขของเขต แล้วเราก็จะเข้าไปทำกายภาพให้เขาที่บ้าน ทีนี้ ลักษณะคนไข้ในชุมชนที่เราเจอบ่อย ๆ มักจะเป็นคนไข้ที่ขาดแรงจูงใจในการทำกายภาพ เช่นแบบ เขาอาจจะมองว่ามันไม่จำเป็น หรือมองว่าทำไปอาการเขาก็ไม่ดีขึ้น เพราะคนไข้กลุ่มนี้มักเป็นคนไข้เรื้อรังด้วย...ตรงนี้มันก็เหมือนการขายของอ่ะ เราต้องเป็นคนเข้าไปขายของให้เขา เข้าไปแสดงให้เขาเห็นว่าการทำกายภาพมันสำคัญนะ คุณต้องทำนะ ทำแล้วอาการป่วยจะดีขึ้น เราต้องทำให้เขาเชื่อใจเรา แล้วก็ต้องโน้มน้าวเขามากกว่าคนไข้ในโรงพยาบาลที่เข้ามาหาเราอย่างเต็มใจ เราเลยต้องใช้พลังมากกว่าในแง่นี้"

    การพูดคุยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและความไว้วางใจกับคนไข้ การพูดเบี่ยงเบนความสนใจขณะทำกายภาพ ไปจนถึงการพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการฝึกทำท่ากายภาพบำบัดด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้นับเป็นความท้าทายขนานใหญ่ของมนุษย์อินโทรเวิร์ตที่ไม่ค่อยถนัดในการเข้าหาคนแปลกหน้าอย่างกล้วยเลยทีเดียว 

    “จากที่เราเคยคิดว่ามันจะเป็นคอมฟอร์ตโซนให้เรา กลายเป็นว่าเราต้องพาตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองประมาณหนึ่งเลยตอนทำงานนี้ เพราะตัวเราก็ไม่ได้ชินกับการพูดคุยเยอะ ๆ การพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือกับคนที่เราไม่ได้รู้จักมาก่อนเลย ในช่วงแรก ๆ เราเลยมีความรู้สึกว่า งานนี้ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองน้อยลงไปเหมือนกัน”

    ความกลัวการสูญเสียความเป็นตัวเองไปเพราะการทำงานทำให้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง กล้วยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเธอควรจะเดินไปทางไหนต่อ เพราะในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่นักกายภาพบำบัด กล้วยก็เป็น
    คนเงียบ ๆ เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตที่รักการอยู่บ้านมากกว่าการออกไปเที่ยวข้างนอก ชอบไปกินข้าวคนเดียวหรือกินกับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่าไปกับคนกลุ่มใหญ่ และรู้สึกว่าการต้องออกไปเจอผู้คนมาก ๆ เป็นกิจกรรมหลักที่ดูดพลังงานของเธอไปในแต่ละวัน

    รูปภาพจากอินสตาแกรมส่วนตัวของกล้วย
    “จริง ๆ เราเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวแล้วก็มีความสุขกับการอยู่คนเดียวมากกว่าการที่จะต้องอยู่กับคนเยอะๆ นะ เรารู้สึกว่าตัวเองเข้าสังคมไม่เก่งเท่าไหร่ รู้สึกว่าเราต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการชวนคนอื่นคุย ในการตอบคำถามอ่ะ”

    “บางทีถ้าต้องอยู่กับคนที่เราไม่ค่อยสนิทด้วยเท่าไหร่ มันก็จะมีทั้งประเด็นที่เราชวนคุยได้และชวนคุยไม่ได้ เช่นเรื่องความชอบของเราที่เขาอาจจะไม่อินด้วย เราเลยรู้สึกว่า มันกดดันที่เราจะต้องพยายามคิดหาหัวข้อ small talk มาชวนเขาคุยให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเป็นฝ่ายชวนคุยก่อน พอเป็นแบบนี้ เราเลยสบายใจมากกว่าถ้าได้อยู่คนเดียว อยู่กับตัวเอง หรืออยู่กับคนที่เราสนิทและมีความสนใจคล้าย ๆ เรา”

    ความท้าทายของการพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อมีคำว่า "หน้าที่" เข้ามาวางซ้อนทับเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง กล้วยในวัยยี่สิบต้น ๆ จึงรู้สึกราวกับกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างทางสามแพร่ง ทางหนึ่งคือตัวตนที่เธอไม่อาจละทิ้งได้ ในขณะที่อีกทางคือความใฝ่ฝันที่อยากทำมาตลอด และไม่ว่าจะมองไปทางไหน เธอก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าทางเลือกนั้นจะเป็นคำตอบที่ตัวเธอต้องการจริง ๆ 

    “มันก็มีจุดที่คิดหนักว่าเราควรจะทำยังไงต่อ มันเกิดความคิดว่าเราควรจะเป็นตัวเองเหมือนเดิม หรือเราควรจะปรับตัวเองมาก ๆ ดี (เงียบ) ถ้าต้องปรับมาก ๆ เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำอยู่หรือเปล่า เรากลัวว่าการพยายามเป็นคนในแบบที่เราไม่ได้เป็นจะทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงาน แต่ถ้าเรายังเป็นอยู่แบบนี้ มันก็จะทำให้การทำงานของเรามันไปต่อไม่ได้เหมือนกัน”

    “จนเราทำมาเรื่อย ๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่า ทุกสิ่งที่เราทำอ่ะ เราต้องหาจุดที่เราทำแล้วเราโอเค

    ที่สุดแล้ว เส้นทางที่กล้วยเลือกกลับไม่ใช่ทางซ้ายหรือขวา แต่เป็นทาง "ตรงกลาง" ที่รวมตัวตนและความใฝ่ฝันของเธอเอาไว้ด้วยกัน

    Goniometer
    จากความกังวลเเปรเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกท้าทายและความอยากเอาชนะ สิ่งที่กล้วยมองว่าท้าทายที่สุดในการทำงานในฐานะนักกายภาพชุมชนในระยะแรกจึงอยู่การพยายามสร้าง "ตรงกลาง" ระหว่างการเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่ายกับการรักษาความเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตของตนเองเอาไว้ เพื่อให้เธอยังสามารถเก็บไว้ได้ทั้งความฝันและตัวตนในแบบที่เธอเป็น

    “เราต้องปรับการเข้าหาคนใหม่ทั้งหมด เช่น ลดกำแพงของตัวเองลง ต้องเข้าถึงง่าย ต้องสร้างประเด็นที่จะพูดคุยทำความคุ้นเคยกับคนไข้ ทำให้คนไข้วางใจเรา มันเลยต้องมีการแบ่งว่า เวลาทำงาน เราต้องปรับตัวให้กลายเป็นคนที่ดูเฟรนด์ลี่มากขึ้นกว่าตอนเลิกงาน มันก็ฝืน ๆ แหละในช่วงแรก ๆ เพราะมันใช้พลังเยอะมากสำหรับคนแบบเรา แต่เราก็พยายามทำมันมาเรื่อย ๆ”

    “ตอนนั้นเรามีความรู้สึกนี้อยู่อ่ะ ว่าแบบ เราอยากทำได้ เรายังอยากทำงานนี้อยู่และเราก็ไม่ได้อยากเป็นคนที่ดูเข้าถึงยากขนาดนั้น ความรู้สึกพวกนี้ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เราทำได้ เราต้องทำได้

    ด้วยความพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองทีละน้อยในวันนั้น กล้วยในปัจจุบันได้พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นแล้วว่า เธอสามารถเอาชนะความท้าทายที่เธอตั้งเอาไว้ได้จริง ๆ การเอาชนะของเธอไม่ได้อยู่ในรูปของความสำเร็จในการสร้างตรงกลางให้กับชีวิตการทำงานและตัวตนในชีวิตส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังอยู่ในรูปของการเปลี่ยนทัศนคติของตัวเธอเองต่อทักษะการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย

    “เราไม่ได้รู้สึกเลยว่าเราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองนะ เพราะเอาจริง ๆ เราก็ไม่ได้ทำมันตลอดเวลา เวลาเลิกงานเราก็กลับไปเป็นตัวเราที่เงียบ ๆ เหมือนเดิมได้ ส่วนตัวเราเวลาทำงาน...คือเรามองว่าบุคลิกของเราตอนทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไปแล้วด้วยซ้ำ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นการฝืนทำอีกต่อไปแล้ว”

    “เคยมีคนไข้บอกด้วยว่าเราพูดมาก น่ารำคาญ ซึ่งเราแบบ...ประทับใจมาก รู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จ (หัวเราะ) คือมันเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงเลยนะสำหรับคนพูดน้อยแบบเราเพราะจริง ๆ เราก็ไม่ใช่คนแบบนั้น พอเค้าพูดแบบนี้มันเลยทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย เราสามารถทำในสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้เลยนะ 
    ก็เลยประทับใจ ตลกด้วย” (ยิ้ม)


    “ตอนนี้เราเลยเปลี่ยนมุมมองไปว่า            

    มันคือทักษะหนึ่งที่เราสามารถฝึกฝนกันได้...และเราทำได้สำเร็จ”


    เมื่อถูกถามถึงชีวิตส่วนตัวที่เธอยังคงชอบอยู่กับตัวเอง ชอบพักผ่อนอยู่ที่บ้านมากกว่าการออกไปเที่ยวเล่นข้างนอก รวมไปถึงความสบายใจที่มีมากกว่าเมื่อได้ทำอะไรคนเดียว กล้วยบอกกับเราว่า มันเป็นความสบายใจที่เธอยังไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าความสบายใจของเธอยังไม่ได้ไปส่งผลกระทบต่อใครหรืออะไร เธอก็เชื่อว่าเธอมีสิทธิที่จะรักษาความเป็นตัวเองส่วนนั้นเอาไว้กับตัว

    “เรามองว่าการทำอะไรคนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกเลย คือก็มีคนถามเหมือนกันว่าไม่เหงาเหรอ กินข้าวคนเดียวได้ใช่มั้ย เราก็เฉย ๆ อยู่ได้ ก็ไม่ได้มองว่าตัวเองแปลก"

    การชอบออกไปพบเจอผู้คนของมนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ตกับการชอบอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ ของมนุษย์
    อินโทรเวิร์ต จริง ๆ แล้วสองสิ่งนี้อาจมีจุดร่วมเดียวกันคือ การเป็นลักษณะนิสัยที่สร้างความสบายใจให้กับคนแต่ละประเภท ความแปลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะโดยการตั้งคำถามของคนรอบข้าง หรือแม้แต่โดยตัวมนุษย์อินโทรเวิร์ตเองจึงอาจเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของบุคคลมากกว่าความแปลกที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของลักษณะนิสัยนั้น ๆ 

    “ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวเราด้วย เราต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามันไม่ได้ไปกระทบอะไรหรือใคร เราคิดว่ามันก็โอเคถ้าเราจะคงนิสัยแบบนี้เอาไว้ แต่อย่างตัวเรา ถ้าตอนนั้นเรายืนยันว่าเราจะไม่ยอมเปลี่ยนตัวเอง เราคงตัดสินใจไปทำงานอย่างอื่นแทน”

    การเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตเงียบ ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตที่ร่าเริง เข้ากับคนง่าย ชวนคุยเก่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน 

    ไม่ว่าภาพจำที่สังคมมีต่อมนุษย์อินโทรเวิร์ตจะเป็นแบบไหน กล้วยได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า คนเราไม่จำเป็นต้องมีชีวิตแค่ด้านเดียวเสมอไป การเปลี่ยนแปลงตัวเองในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ตัวตนของกล้วยหายไปแต่กลับเป็นการเพิ่มตัวตนในอีกมุมหนึ่งเข้ามาพร้อมกับทัศนคติใหม่ต่อตนเองในฐานะมนุษย์
    อินโทรเวิร์ตที่เชื่อมั่นว่า...

    หากความเงียบเป็นความสบายใจ การเข้าสังคมเพื่อการได้เดินตามความฝันในเส้นทางอาชีพที่รักก็เป็นความท้าทายที่มีไว้ให้มนุษย์อินโทรเวิร์ตพุ่งเข้าหาเพื่อค้นพบว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องที่พัฒนากันได้ ถึงแม้มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดมาตั้งแต่ต้นก็ตาม

    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ผู้ให้สัมภาษณ์ : สุนทรี บรรลือเขตต์
    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ชัญญา เหมพรวิสาร
    ภาพประกอบ : ชัญญา เหมพรวิสาร / ภาพประกอบบางส่วนจากอินสตาแกรมส่วนตัวของสุนทรี


    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2562 #ห้องเรียนเขียนเรื่อง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in