เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ธีสิส ติดเกาะSasikan Jontapa
เผลอเดี๋ยวเดียวก็ 90%
  • ในที่สุดธีสิสติดเกาะของเราก็เดินทางมาถึง 90% อย่างไม่รู้ตัว



              ต้องขอเล่าแบบทีละขั้นตอน เพราะว่าช่วง 1 เดือนหลังจาก 50% มีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายอย่างมาก เพราะต้องเร่งส่งให้ทันเวลา และจู่ ๆ เราก็เขียนได้เร็วขึ้นเหมือนติดเครื่องยนต์ที่เรือไม้


              ขั้นแรก เราได้ส่งบทนำถึงตอนที่ 3 ให้กลุ่มเป้าหมายอ่าน ซึ่งก็คือเพื่อน ๆ วัยรุ่นที่เราพอจะหาได้ มีน้องนักอ่านตัวยงอายุ 13 ปีที่ได้รู้จักกันจากการไปขายหนังสือ น้องชายของเราเองที่อายุ 17 ปี และน้องสาวใจดีอีกคนหนึ่งอายุ 17 ปี

              ทั้งสามคนนี้ช่วยเราได้ดีมากเรื่องของความรู้สึกหลังจากได้อ่าน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าน่าติดตามต่อ เพราะสิ่งที่เรากลัวคือ เรื่องที่เราเขียน ยังเป็นแนวที่วัยรุ่นยุคนี้อ่านอยู่ไหม ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ายุคนี้ชอบเล่นมือถือกันมากกว่า แม้แต่ตัวเราเอง เมื่อได้ความคิดเห็นจากวัยรุ่นทั้งตอนต้น และตอนปลายทั้ง 3 คน เราจึงโล่งใจขึ้น

              แต่น้อง ๆ กลุ่มตัวอย่างของเราก็ไม่ได้ชมเพียงอย่างเดียว น้องได้ให้คำแนะนำที่มีค่ากับเรามาก ๆ และเราคิดไม่ถึงด้วย เช่น บางประโยคอ่านแล้วงงต้องกลับไปอ่านใหม่ อารมณ์ค้างกับตัวละครก่อนหน้าอยู่แต่เปลี่ยนไปเล่าอีกตัวละครหนึ่งแล้ว ตัวละครเยอะไป และไม่มีบรรยายรูปร่างลักษณะตัวละคร ทำให้จินตนาการไม่ออก คำแนะนำของน้อง ๆ เราเอามาปรับใช้มากเท่าที่ปรับได้ และต้องขอบคุณทั้ง 3 คนมากจริง ๆ



              ขั้นที่สอง เราต้องแต่งต่อให้จบ จะเห็นว่าความคืบหน้า 50% ครั้งก่อน เราเขียนได้น้อยมาก และไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ แต่แค่ 35% ตอนนี้เราจึงเร่งแต่ง และสามารถแต่งจนจบเรื่องได้ในที่สุด

              สิ่งที่เราพบอย่างแรกเลยคือ แม้ว่าเราจะหาข้อมูลมามากแค่ไหน พอถึงเวลาเขียนจริง เราอาจจะต้องหาเพิ่มอีก วรรณกรรมของเราเป็นเรื่องแฟนตาซีที่ต้องมีวิถีชีวิตของชาวเผ่าในเกาะเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงตั้งใจว่าจะบรรยายให้เห็นภาพมากที่สุด แม้ผู้อ่านจะเกิดและเติบโตในเมืองก็ตาม ทำให้เราต้องหาข้อมูลระหว่างที่เขียนเสริมไปด้วย

              เคล็ดลับที่อยากบอกคนกำลังจะเขียนงานในอนาคต คือข้อมูลบางอย่าง อย่างการสร้างกระท่อมหลังคามุงจาก การทำเชือกคล้า หากเราหาอ่านจากเว็บไซต์หรือหนังสือ เราเองที่ไม่เคยทำก็จะไม่เห็นภาพ แล้วหากเราจะเขียนบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพอาจทำให้เราคัดลอกข้อความจากข้อมูลที่เราหามาอย่างไม่ตั้งใจ

              เราเลยแก้ด้วยการเสิร์ชใน Youtube เพื่อหาดูเป็นวิดีโอแทน เช่น เราอยากรู้วิธีทำเชือกคล้า เราก็เสิร์ชหาวิดีโอสอนทำเชือกคล้า อันดับแรกคือเราเห็นภาพ แล้วสามารถมาบรรยายได้ด้วยภาษาของเรา และสิ่งที่เราจะได้มาด้วยคือบรรยากาศรอบตัวของชาวบ้านที่มาสอน สำเนียงภาษาของเขา หรือแม้แต่ศัพท์เฉพาะที่เขาใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ จึงขอแนะนำทุกคนว่า นอกจากหาข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว อย่าลืมหาแบบเป็นวิดีโอด้วยนะ

              เคล็ดลับอย่างที่สอง ที่ทำให้เขียนตามพล็อตที่วางไว้จนจบเรื่องได้ คือการวางแผน อย่าทิ้งช่วงห่างเกินสองวัน เพราะหากไม่เขียนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เขียนไม่ออก ตอนที่เขียนพยายามจับเวลาไว้ว่าเราใช้เวลาในการเขียนเท่าไร

              เช่น เราเขียน 1 ตอน จำนวน 4,000 คำ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เราจึงวางแผนว่าใน 1 วัน เราต้องเขียนให้ได้ 1 ตอน ซึ่งใน 24 ชั่วโมง เราหักเวลามาทำธีสิสสัก 6 ชั่วโมงเท่านั้นก็จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น บางคนอาจจะมีวิธีไม่เหมือนเรา จึงต้องลองเขียน และลองทำความรู้จักการทำงานตัวเอง แล้วจะปรับตัวได้


              ขั้นที่สาม การทำหน้าปก เราเลือกใช้สีอะคริลิกวาดลงบนเฟรมบ้าใบ แต่อยู่ ๆ จะวาดลงไปเลยก็จะทำให้เสียของและเปลืองเงิน เราเลยร่างลงในกระดาษให้คล่องมือก่อน เพราะเราไม่ได้วาดรูปมานานจึงต้องสร้างความเคยชิน เมื่อคิดว่าพร้อมแล้วจึงลงในเฟรมผ้าใบของจริง จากนั้นก็สแกนเป็นไฟล์ภาพ มาทำปกหนังสือต่อไป

              ขั้นตอนการออกแบบถือว่ายากมากสำหรับเราเพราะเราไม่ถนัดเลย เราเลือกใช้ลายมือของเพื่อนเป็นชื่อเรื่อง จัดวางกับภาพที่วาด จนได้แบบหน้าปกคร่าว ๆ ออกมา และจากความคิดเห็นของครูก็พบว่ามันยังไม่โดดเด่น ดูแข็งทื่อ ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะรูปที่เราวาดยังดูแข็งเกินไป

              ซึ่งความคิดเห็นของครูทำให้เรามองเห็นทางแก้ไขปกของเรามาก เพราะเรามองเองก็เห็นว่ามันยังไม่สวย แต่ยังไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร



              ขั้นที่สี่ คือการจัดหน้า Art Work เราเลือกฟอนต์และขนาดด้วยการพิมพ์ออกมามองด้วยตา เพื่อให้แม่นยำ และแน่นอนที่สุด จากประสบการณ์วิชาบรรณาธิการที่ทำเล่มหนังสือ เราไม่ได้ลองพิมพ์มาดูก่อน มารู้ทีหลังว่าตัวอักษรเล็กไปก็ตอนที่ต้องส่งแล้ว การพิมพ์ออกมาดูด้วยตาจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และการให้ครูหรือเพื่อน ๆ ช่วยดูหลาย ๆ ตาก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะสบายตาของเราอาจไม่สบายตาสำหรับคนอื่น



              ขั้นที่ห้า การตั้งชื่อเรื่อง ติดเกาะ เป็นแค่ชื่อเล่นที่เอาไว้เรียกระหว่างแต่ง เมื่อแต่งจนจบก็ต้องมีชื่อเรื่องของจริง เราได้ลองหาข้อมูลมาแบบคร่าว ๆ ว่าหนังสือที่ได้รับความสนใจจากวัยรุ่น มักเป็นหนังสือที่ชื่อเรื่อยาว และไปในทางลบ หรือแค่ชื่อหนังสือ ก็สามารถเอามาเป็นคอนเทนต์ลงโซเชียลได้

              เราเลยมีผู้เข้าแข่งขันอยู่หลายชื่อ 'เมื่อสิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงลมหายใจ' คือชื่อที่เราชอบมากที่สุด แต่เราคิดว่าชื่อนี้ยังนำเสนอเนื้อเรื่องได้ไม่ดีพอ เลยใส่คำที่ทำให้น่าสนใจขึ้นอีกคือชื่อเกาะฮามูล์ ฟิลู ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งต้องคิดและปรึกษาครูต่อไป



              ทุก  ๆ อย่างเกิดขึ้นในหนึ่งเดือนเยอะแยะขนาดนี้ เราเลยกลัวว่าความรีบเร่งให้ทันส่งงาน จะทำให้เราพลาดบางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย และโชคดีที่ครูเลื่อนวันส่งออกไป เราจึงมีเวลาละเมียดกับการแก้ไขภาษา จัดหน้า และการแก้ปกมากกว่าเดิม ต้องขอขอบคุณคุณครูทุกท่านค่ะ 🙏

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in