สูตรสำเร็จ จำเจ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ
เชืื่อว่าสามคำนี้คงผ่านหูของใครหลายคนในระยะหลังเมื่อไม่กี่ขวบปีที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย
ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ นวนิยาย สื่อออนไลน์ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการเล่าเรื่อง (Narrative)
และการนำเสนอเนื้อหา (Content) ที่ยังคงวนอยู่ในอ่างตามขนบเดิมจนเดาทางได้เสมอ
แน่นอนว่าการที่สื่อในลักษณะเดิมถูกผลิตซ้ำอาจทำให้ใครหลายคนถอดใจไม่รับชมต่อ
บางคนถึงกับเลิกและตัดขาดจากความจำเจ (Cliché) ด้วยการเปิดรับสื่อจากต่างประเทศ
ที่ขึ้นชื่อว่าเจริญก้าวหน้าและพัฒนาแล้วจนมีจุดแข็งเป็นความหลากหลายที่แปลกใหม่เสมอ
แต่เมื่อมองย้อนกลับไปมองต้นสายปลายเหตุที่สื่อในสยามประเทศยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่ร่ำไป
อาจเป็นเพราะสังคมเข้าสู่ยุคที่ผู้รับสื่อเป็นใหญ่และมีอำนาจจนสามารถต่อรองกับผู้ผลิตสื่อได้
และเมื่ออุปสงค์อยู่คู่กับอุปทาน ผู้รับสื่ออยู่คู่กับผู้ผลิตสื่อ การเสพสื่อซ้ำจึงทำให้สื่อถูกผลิตซ้ำ
ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกที่จะไม่รับชมสื่อที่ถูกผลิตซ้ำซากไปมาเพราะความเอือมระอา
ทว่าคนรุ่นเก่าซึ่งเป็นฐานผู้ชมส่วนใหญ่กลับยังคงมีพฤติกรรมในการเปิดรับสื่อเช่นเดิม
สื่อที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันทันด่วนนี้จึงมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ
และหลาย ๆ ครั้งถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันด้วยซ้ำ ทว่าถูกเปลี่ยนชื่อไม่ให้คุ้นหู
และเพิ่มลักษณะเด่นที่มีเอกลักษณ์เข้ามาไม่ให้คุ้นตาเพื่อฉาบหน้าให้ดูใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ
ทว่าแท้จริงแล้ว เนื้อในและแก่นสารของสื่อที่ถูกผลิตกลับยังคงเป็นสิ่งที่จำเจเหมือนเคย
ถ้าหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคงเหมือนข้าวปลาอาหารประเภทเดิมที่มีรสชาติดั้งเดิม
หากแต่มีการเสริมองค์ประกอบเพิ่มเข้ามาบ้าง ทว่าที่เปลี่ยนไปจริง ๆ มีแค่ชื่อเมนูเท่านั้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือส้มตำที่สามารถเพิ่มความนัวด้วยปลาร้าจนกลายเป็นส้มตำปูปลาร้า
เพิ่มความมันด้วยไข่เค็มจนกลายเป็นส้มตำไทยไข่เค็ม เพิ่มขนมจีนจนกลายเป็นส้มตำซั่ว
ทว่าโดยรวมแล้วกลับยังคงขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารดังก้องโลกจากแผ่นดินรูปขวานทองเสมอมา
และถ้าหากวัฏจักรของสื่อยังคงสภาพอยู่ในลักษณะนี้เหมือนเดิมโดยไม่ถึงตอนอวสานเสียที
ผลผลิตแห่งความซ้ำซากซึ่งถูกทิ้งไว้ในโลกของสื่อจึงย่อมหลงเหลือเพียงซากแห่งความซ้ำ
...ตลอดไป
พรชา จุลินทร (สบาย)
30 มิถุนายน 2565
22.37 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in