จะดีแค่ไหนถ้าคนไทยมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เพิ่มขึ้นอีกแห่ง กับ Co-working Space แนวใหม่ "แหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต"
ปกติถ้ามีคนมาบอกว่าจะพาไปเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ฯ หลายคนคงคิดว่าต้องน่าเบื่อแน่ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินด้วยแล้ว แต่อาจไม่ใช่กับที่นี่ "ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย" จุดเช็คอินใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นำโรงพิมพ์ธนบัตรเก่า มาปรับเป็นพื้นที่สาธารณะเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยแนวคิด "แหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต" (living learning-hub)
จุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดจากคำพูดหนึ่งของคนในแบงก์ชาติที่ว่า "จะดีแค่ไหนถ้าคนไทยมีพื้นที่สาธารณะสำหรับเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความรู้กันเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง" จึงเกิดไอเดียที่จะทำแหล่งการเรียนรู้แห่งนี้ขึ้นมา ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนทุกกลุ่ม โจทย์แรกที่คิดกันก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนทั่วไปรู้สึกเป็นมิตร เข้าถึงง่าย และมองเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน เป็นสิ่งใกล้ตัว
โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย ที่ถูกปล่อยร้างไว้กว่า 50 ปี จึงถูกเลือกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง หลังไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแบงก์ชาติก็ว่าได้ เพราะแต่เดิมพื้นที่ตรงนี้ เคยเป็นที่เก็บธนบัตร เป็นเขตหวงห้ามของประชาชนทั่วไป แต่ต้องนำมาประยุกต์ให้เป็นทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ Co-working Space และห้องประชุม ที่อ้าแขนรับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย
โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม ในอดีต
เราจึงเห็นการออกแบบที่ผสมระหว่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมดั้งเดิมกับการออกแบบสมัยใหม่ ที่เน้นความโปร่งโล่งสบาย สามารถมองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม 8 จากภายในศูนย์การเรียนรู้ได้เลย โดยจุดที่น่าสนใจที่อยากจะแนะนำให้ลองมาสัมผัสกันสักครั้ง คือ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
เป็นฟรีโซนที่เปิดให้ใคร ๆ ก็เข้ามาใช้บริการได้ แน่นอนว่าจุดเด่นคือเป็นห้องสมุดที่รวมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคารไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย แต่สิ่งที่แตกต่างจากห้องสมุดอื่นๆ คือพอได้ก้าวเท้าเข้าไปก็แทบจะลบภาพห้องสมุดแบบเดิมออกไปเลย ด้วยคอนเซ็ปต์ Co-working Space ที่ออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
มีทั้งสื่อมัลติมีเดียแบบครบครัน, ห้อง IDEA Box สำหรับใช้ประชุมงาน หรือติวหนังสือ และอีกอย่างที่น่าจะถูกใจหลายๆ คน ก็คือ ปลั๊กไฟ ที่มีบริการแทบจะทุกจุดในห้องสมุด แถมที่นี้ยังมีคอมพิวเตอร์ไว้คอยบริการแบบฟรีๆ อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
โซนต่อมาที่เป็นไฮไลท์ห้ามพลาดก็คือ "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย" ที่ตั้งอยู่ในบริเวณของ "ห้องมั่นคง" อดีคเคยเป็นที่เก็บธนบัตรและสิ่งของสำคัญ สำหรับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นั้น ใช้เวลารอบละประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีทั้งหมดวันละ 8 รอบ เริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 น. จนถึง 14.30 น. ประกอบด้วย 3 นิทรรศการหลัก ได้แก่ นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร, นิทรรศการเงินตรา และนิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้ภายในพิพิธภัณฑ์ จะอัดแน่นไปด้วความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน ซึ่งดูเหมือนไกลตัวคนทั่วไป แต่การออกแบบของห้องต่าง ๆ ที่ทำออกมาได้ดี จึงทำเรารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่กำลังนำเสนอจนลืมเวลาไปเลย
ลองมาสัมผัสบรรยากาศนั่งจิบกาแฟที่นี้กันดูสักครั้ง เชื่อว่าน่าจะชอบได้ไม่ยาก ศูนย์การเรียนรู้ฯ เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.30-20.00 น. "แล้วคุณจะพบว่าเรื่องเศรษฐกิจการเงิน ไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in