เมื่อเร็ว ๆ นี้การกลับมาของศิลปินเก่า ๆ ในค่ายกามิกาเซ่ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น เฟย์ ฟาง แก้ว ที่กลับมาร้องคัฟเวอร์เพลงเก่าของตัวเองเป็นแนวอคูสติก โฟร์-มด ที่กลับมายืนเวทีเดียวกันอีกครั้ง หรือคอนเสิร์ตคัมแบกของบอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นยุคเกมเต้นอย่างเคโอติก
มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่จะรู้สึกอยากกลับไปซึมซับเรื่องราวเก่า ๆ อันที่จริง ถ้าคุณฟังเพลงแฟนใหม่จากคลื่นวิทยุยอดฮิต เคโอติกก็จะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิตด้วยซ้ำ ความทรงจำเหมือนบูมเมอแรงที่ใช้เวลาเดินทางนานโขและมักกลับมาในวันที่ลืมไปแล้วว่าขว้างออกไปตอนไหน
ทำไมการพูดถึงผมทรงรากไทรถึงทำให้มีความสุขได้ไม่หยุดหย่อน นั่นเพราะสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ผ่านไป
วันนี้อยากพาไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ จำตอนนั้นได้ปะ ที่จัดแสดงบ่อย ๆ ในหัวเรา และหาคำตอบว่าทำไมอดีตหอมหวานเสมอในวงเพื่อนเก่า (และวงเหล้า) ระหว่างนี้เปิดเพลงที่เคยชอบฟังไปด้วยก็ได้
ความสุขที่ทำให้เราเศร้านิด ๆ
(-getsunova?)
สิ่งที่รู้สึกระหว่างฟังเพลงโปรดเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว คงจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Nostalgia (คำคุณศัพท์ : Nostalgic)
Nostalgia มีคำแปลหลากหลายในภาษาไทย อาจแปลได้ว่า การระลึกถึงความหลัง ความอาลัยอาวรณ์ การโหยหาอดีต พจนานุกรมบางแหล่งแปลยาว ๆ ไว้ว่า การครุ่นคิดอยากให้กลับมาซึ่งประสบการณ์,สิ่งของหรือความคุ้นเคยในอดีต ถ้าจะแปลสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย จะใช้คำว่า คิดถึง ก็ได้
แต่ความคิดถึงที่ว่านี้เป็นอะไรที่มากกว่าการหวนนึกไปถึงความทรงจำ มันเป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ ที่คลุมเครือระหว่างความอบอุ่นเมื่อเราคิดถึงความทรงจำที่ชื่นชอบในอดีตของเรา กับความรู้สึกอื่น ๆ
- อิริกา ฮีปเปอร์ (Erica Hepper, Ph.D.) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ (University of Surrey) อธิบายว่า ความคิดถึงหรือความโหยหาอาลัยถึงอดีตนี้เป็นความรู้สึกชนิดหวานอมขม - แม้จะทำให้มีความสุข สบายใจ แต่ก็แฝงด้วยความเศร้าจากความรู้สึกที่ว่าเราได้สูญเสียบางอย่างไปแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
- ในขณะที่ เคลย์ เราท์เลดจ์ (Clay Routledge, Ph.D.) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทดาโกต้า (North Dakota State University) กล่าวไว้ การรำลึกเป็นพฤติกรรมการทบทวนอดีตของมนุษย์ ซึ่งการรำลึกที่ว่านี้ บางทีก็ไปกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ห่วงหาอาวรณ์ขึ้นมาได้
ที่มาที่ไป
ทั้งฮีปเปอร์และเลดจ์ต่างเห็นด้วยว่าการคิดถึงอดีตเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน โดยเฉลี่ยแล้วคนมักจะมีอาการคิดถึงอดีตสัปดาห์ละครั้ง โดยได้รับการกระตุ้นจากหลายปัจจัย เช่นกลิ่นที่คุ้นเคย เสียงดนตรี หรือภาพถ่ายเก่า ๆ
นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกจะกระตุ้นให้คิดถึงอดีตได้แล้ว ปัจจัยภายในอย่างความรู้สึกเชิงลบก็เป็นตัวกระตุ้นได้เหมือนกัน หลายคนพบว่าเมื่อรู้สึกเหงา ได้ยินเรื่องหดหู่ใจ รู้สึกสิ้นหวัง ก็มักจะรู้สึกคิดถึงอดีตขึ้นมา
ความคิดถึงนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาว วัยรุ่น และช่วงวัย 20 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่สำคัญ เช่น เริ่มต้นเรียนมหาวิทยาลัย หรือเริ่มต้นทำงาน อาจจะต้องแยกออกมาอยู่ตัวคนเดียว โดยเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่วุ่นวายและไม่มั่นคงในชีวิต คนก็มักจะโหยหาความเรียบง่ายและความปลอดภัยในวัยเด็กเป็นธรรมดา
ถัดมาในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ก็พบเช่นกัน เนื่องจากเป็นการมองย้อนกลับไปคิดทบทวนชีวิตนั่นเอง
ถึงแม้ว่าการมองย้อนกลับไปในอดีต ฟังดูเหมือนต้องมีอดีตเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญ นั่นคือต้องมีอดีตที่ยาวนานก่อน ถึงจะรำลึกถึงได้ แต่ที่จริงไม่จำเป็น ความรู้สึกคิดถึงหรือโหยหาอดีตนี้เกิดได้กระทั่งในเด็กอายุ 8 ปี
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in