เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
i watched, i read and i wrotenningr
Rewatched Mulan (1998) รอบที่แปดแสน
  • ก่อนอื่น บทความนี้เป็นมุมมองของเราต่อเรื่อง 'มู่หลาน' ฉบับการ์ตูนปี 1998 เกี่ยวกับเรื่อง 'ปิตาธิปไตย' หรือชายเป็นใหญ่ โดยอ้างอิงจากเพลง ฉาก ตัวบทฉบับการ์ตูน กับประเด็นเรื่อง 'การยอมรับตัวเอง' เท่านั้นนะคะ (ฉบับภาพยนตร์เราไม่ดูค่ะ) ดังนั้นจึงอาจจะไม่ได้พูดถึงประเด็น CA ที่ดิสนีย์ทำกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ของจีนสักเท่าไหร่ ต้องขออภัยมา ณ ตรงนี้ด้วย

    ส่วนตัวแล้ว 'มู่หลาน' เป็นการ์ตูนเรื่องโปรดของเรามาตั้งแต่ยังเด็กแล้วค่ะ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นลูกคนจีนโพ้นทะเลด้วย ประเด็นเรื่อง 'ลูกสาว ลูกชาย' จึงเป็นอะไรที่รีเลตด้วยง่ายมาก ๆ เราดูตั้งแต่สมัยยังเป็นเทปวิดีโอ จนมาฉายบนสตรีมมิ่งออนไลน์อย่าง disney+ แล้วยิ่งพอโตขึ้น ได้เลนส์อ่านวรรณกรรมมาจากสาขาที่เรียน ก็ยิ่งรู้สึกว่า ไม่แปลกใจเลยที่เรารักการ์ตูนเรื่องนี้ และมีมู่หลานเป็นคอมฟอร์ตคาแรกเตอร์จวบจนทุกวันนี้ (และเมื่อคืนก็เพิ่งดูไปอีกรอบ)

    อย่างแรก ทุกคนที่ดูก็คงรู้จักเพลง 'นำศักดิ์ศรีให้เรา' 'สร้างนายเป็นชายแท้' แล้วก็ 'สู้ตายเพื่อหญิงคนงาม' กันใช่ไหมคะ ซึ่งเนื้อหาทั้งสามเพลงนี้แสดงถึงความ 'เหยียดเพศหญิง' อย่างมาก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ตั้งใจเหยียดเพศ หรือต้องการตีแผ่สังคมปิตาฯแค่นั้นจริงหรือ ส่วนตัวแล้วเราคิดว่าสามเพลงนี้ เมื่อนำมาประกอบกับฉากในเรื่อง มันกำลัง 'ต่อต้านและตั้งคำถาม' ตัวเนื้อเพลง หรือก็คือกำลังต่อต้านรวมถึงตั้งคำถามความปิตาฯอยู่ค่ะ

    ในเพลงแรก ชื่อเพลง 'นำศักดิ์ศรีให้เรา' ในที่นี้หมายถึง การเป็นภรรยาที่ดี การเป็นผู้หญิงที่ว่าง่ายอ่อนหวานและคลอดลูกชายให้ครอบครัว จะเห็นจากตัวอย่างเนื้อเพลงที่ร้องว่า 'จงเชื่อเรา เหล่าผู้ชาย คงสู้ตายเพื่อจะได้โฉมตรู' 'ชายชอบหญิงที่อ่อนไหว ยิ้มแย้ม และว่าง่าย ว่องไวทุกที เผ่าพันธุ์เยี่ยมและก็เอวเล็กดี' และ 'ผู้ชายเก่งกาจฟาดฟัน หญิงควรมีครรภ์เป็นชาย' ผู้หญิงมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นภรรยาและมารดาเท่านั้น

    แต่ ฉากที่เพลงนี้กำลังฉายไปด้วยฉากหนึ่งคือ มู่หลานยืนคิดการเดินหมากอยู่ และใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็พลิกกระดานให้ลุงคนแก่กลับมาชนะได้ สำหรับเรา เพลงนี้กำลังบอกว่า มู่หลานไม่ตรง 'กรอบ' ความเป็นหญิงที่สังคมต้องการ (ซึ่งนำไปสู่เพลง 'เงา' ที่จะกล่าวถึงภายหลัง) แล้วการที่มู่หลานเป็นคนฉลาด มีไหวพริบ ไม่ตรงกับกรอบความเป็นหญิง มันทำให้เธอ "ไม่มีศักดิ์ศรีและคุณค่า" จริงหรือ?

    แน่นอนว่า หลังจากดูมาทั้งเรื่องแล้ว คำตอบคือไม่ใช่ค่ะ

    เพลงที่สอง 'สร้างนายเป็นชายแท้' นี่ก็กำลังพูดถึงว่า การเป็น "ผู้ชาย" คือต้องเข้มแข็ง แข็งแกร่ง (อย่างที่ 'ชาง' พระเอกเป็น) ในการ์ตูน เพลงนี้จะประกอบกับฉากซ้อมรบของเหล่าทหาร รวมไปถึงฉากเก็บธนูในตำนานด้วย เหล่าทหารรวมถึงมู่หลานที่เป็น 'หญิง' ต้องผ่านการฝึกเพื่อให้เป็น 'ชาย' แต่การฝึกซ้อมได้เปลี่ยนมู่หลานให้มีความเป็นชายเพิ่มขึ้นจริงหรือ

    คำตอบก็คือไม่ใช่เช่นกันค่ะ

    ในฉากเก็บธนู ตอนแรกชางบอกว่าจะขึ้นไปเก็บธนูได้ต้องมีสองอย่าง หนึ่งคือวินัย อีกหนึ่งคือความแข็งแกร่ง แต่ ตอนที่มู่หลานปีนเสาขึ้นไปเก็บธนู มู่หลานใช้ทั้งความมีวินัย ความแข็งแกร่ง และความฉลาดมีไหวพริบ รวมถึงฉากนั้น เนื้อเพลงก็เล่นมาถึงท่อน 'แกร่งดั่งชาย' ในขณะที่คนเก็บธนูเป็น 'หญิง' เรามองว่าทั้งเนื้อเพลงและฉากกำลังขัดแย้งกันเองโดยสิ้นเชิง เพลงไม่ได้บอกว่ามู่หลานแกร่งขึ้นดั่งชาย แต่กำลังบอกว่า เป็นหญิงก็แกร่งได้เช่นเดียวกัน

    อีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดมาก ๆ ว่า เพลงนี้กำลังบอกว่าความแข็งแกร่งไม่ใช่คุณสมบัติของผู้ชายแค่เพศเดียวคือตอนช่วยฮ่องเต้ค่ะ จะเห็นว่าตอนเพื่อนทหารสามคน (เหยา หลิง เฉียนโป) ปลอมตัวเป็นหญิง การ์ตูนก็ใส่เพลง 'แกร่งดั่งชาย' มาด้วย เราคิดว่าเขาไม่ได้ใส่มาเฉย ๆ แต่ความขั้วตรงข้าม (ชาย-หญิง) นี้กำลังสื่ออย่างที่เรากล่าวไปข้างต้นค่ะ

    สำหรับเพลง 'สู้ตายเพื่อหญิงคนงาม' นอกจากเป็นการแสดงออกถึง 'ภาพภรรยาในอุดมคติ' ของผู้ชายแล้ว ยังบอกด้วยว่าผู้ชาย 'ไม่ชอบ' ผู้หญิงฉลาด เก่งกล้าสามารถ (เหมือนที่มู่หลานถามเพื่อน ๆ) รวมถึงการมีความคิดเป็นของตัวเองอีกด้วย ทัศนคตินี้ยังเห็นได้ในอีกหลาย ๆ ฉาก ทั้งฉากที่เสนาฯบอกพ่อมู่หลานว่า 'เจ้าต้องรู้จักสั่งสอนบุตรสาวให้สงบปากสงบคำต่อหน้าบุรุษเสียบ้าง' หรือฉากที่แม่สื่อบอกว่า 'พูดก่อนอนุญาต ตัดแต้ม' นั่นเอง

    แต่ ในตอนความจริงถูกเปิดเผย เพื่อนทหารสามคนก็ออกตัวปกป้องมู่หลานไม่อยากให้โดนลงโทษ ตอนจบที่เสนาบดีจะเอาเรื่องมู่หลาน เพื่อนทหารรวมถึงชางก็ออกตัวปกป้องมู่หลาน ชางถึงกับฟิวส์ขาดเรียกอำมาตย์งี่เง่า (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ขนาดโดนเสนาฯหยามยังไม่โมโหเลย--) นั่นแสดงให้เห็นว่า การเป็นมู่หลานที่เป็นหญิง เฉลียวฉลาด แข็งแกร่ง ตรงข้ามกับกรอบอุดมคตินั้น ไม่ได้ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของมู่หลานเลย และผู้หญิงก็ไม่ใช่แค่มีคุณสมบัติที่ผู้ชายชื่นชอบในแง่ของโรแมนติกเท่านั้น แต่คุณค่า ศักดิ์ศรี ความเป็นหญิง อะไรต่าง ๆ นานาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการเป็น 'เพื่อน' หรือได้รับการยอมรับในฐานะ 'คนคนหนึ่ง' เช่นกัน (เราถึงมองว่ามู่หลานก็ไม่ได้เป็น im not like other girls ถึงได้รักกับชางค่ะ) 

    นอกจากนี้ การยอมรับในฐานะ 'คนคนหนึ่ง' ที่เรามองว่าสำคัญที่สุด คือตอนพ่อของมู่หลานโยนตราพระราชทานและดาบของศัตรูทิ้ง และบอกว่า 'ของขวัญที่ยิ่งใหญ่และทรงเกียรติ คือการมีเจ้าเป็นลูกสาวของพ่อ' มู่หลานร้องไห้ เราเองก็ร้องไห้ค่ะ ในฐานะลูกสาวครอบครัวจีน ประโยคนี้ทัชใจเรามาก ที่สุดแล้วมู่หลานก็ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองอะไรเลย ไม่ต้องเป็นทั้งเจ้าสาวที่ดี (อ่อนโยนอ่อนหวาน) ถึงนำศักดิ์ศรีมาให้ครอบครัวได้ และการเป็นขั้วตรงข้าม (ดูห้าวหาญ เข้มแข็ง) ช่วยเหลือประเทศจีน ก็ไม่ได้เพิ่มหรือลดทอนคุณค่าในตัวเธอเลย

    แค่เป็นมู่หลานก็เพียงพอ เท่านี้เองจริง ๆ

    นอกจากการตอบโต้ปิตาธิปไตยที่เราเห็นได้จากในเพลงแล้ว เราคิดว่ามันถูกถ่ายทอดผ่านตัวของ 'ชาง' ด้วยค่ะ (ซึ่งไม่ใช่ว่าชางชอบผู้หญิงนอกขนบนะคะ) เพราะชางยอมรับมู่หลานที่ปลอมตัวเป็น 'ผู้ชาย' ถึงขั้นบอกว่า 'ข้าเชื่อใจเจ้า' ในตอนหลังที่ไม่ฟังคำเตือนของมู่หลานถึงได้โดนถามกลับว่า 'เจ้าบอกว่าเชื่อใจผิง แล้วกับมู่หลานต่างกันตรงไหน' คำตอบคือ ต่างกันที่ผิงเป็นชาย มู่หลานเป็นหญิง เท่านั้นเอง ถ้าถามเราว่า ชางสะดุดใจกับคำนี้ไหม เราคิดว่าชางคิดค่ะ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้มีท่าทีครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็คงไม่ทำตามแผนมู่หลานในตอนท้าย (แม้จะมองว่า นี่ไงละ มู่หลานไม่ได้โกหกก็ได้เหมือนกันก็ตาม)

    เรามองว่าชางเป็นอีกคนที่มีพัฒนาการ เปลี่ยนแปลงความคิด จากคนที่ถอดเสื้อฝึกนายเป็นชายแท้ เติบโตมากับการเป็นครอบครัวทหาร เปลี่ยนเป็นคนที่ 'ยอมรับ' ว่ามู่หลานต่างหากที่เป็นคนช่วยแผ่นดินจีนไว้ และยอมให้มู่หลานเป็นผู้นำวางแผนช่วยฮ่องเต้ ทั้งที่มู่หลานเป็นหญิง และตัวเขาเป็นถึงนายกองนั่นแหละค่ะ 

    (แทรก -- อีกฉากที่เราคิดถึงปิตาฯคือ ตอนที่ฮ่องเต้ชมว่าชางช่วยแผ่นดินไว้ แล้วเจ้าตัวทำหน้าเหมือนอยากพูดความจริง เพราะลึก ๆ ชางก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้เหมาะสมกับคำเชิดชูนี้ แต่ถ้าบอกความจริง มู่หลานจะเดือดร้อน กับตอนมู่หลานบอกกับชางหยูว่า 'ไม่ใช่เขา (ที่ทำแผนเจ้าล่ม) ข้าต่างหาก' ประเด็นตรงนี้ทำให้เราคิดไปเล่น ๆ ถึงที่มีคนบอกว่า ประวัติศาสตร์ไม่มีผู้หญิง ไม่ใช่เพราะพวกเธอไม่มีความสามารถ แต่พวกเธอโดนขโมยต่างหากขึ้นมาเลยค่ะ)

    อีกประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึง นอกจาก 'การยอมรับตัวตน' จากคนอื่น (ครอบครัว เพื่อน คนรัก) อย่างที่บอกไปข้างต้น เราอยากพูดถึงการที่มู่หลาน 'ยอมรับตัวเอง' ด้วยค่ะ

    ตอนที่ปลอมตัวเป็นผิง มู่หลานกระวนกระวายมาก เพราะ 'ข้าไม่เคยหลอกใครมาก่อน' แต่ ถ้ามองย้อนกลับไป เราคิดว่า การที่มู่หลานพยายามเป็นเจ้าสาวต่างหากที่หลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น (แต่ล้มเหลว) เป็นการพยายามฝืน อย่างที่เพลง 'เงา' บอกไว้  ('เหตุใดมองดูไม่รู้เลยว่าคือตัวเรา') ในขณะเดียวกัน การเป็น 'ผิง' ที่ถูกหาว่าหลอกลวงคนอื่นต่างหากที่จริง ๆ แล้วไม่ได้หลอกใคร ผิงคือตัวตนที่มู่หลานเป็น ทว่าการเป็นผิงกลับทำให้มู่หลานคิดว่า 'ข้ามันไร้ค่า' 

    ถึงอย่างนั้นในท้ายที่สุด มู่หลานก็ไม่พยายามจะเป็นคนอื่น มู่หลานตอนรู้ว่าพวกตัวร้ายยังไม่ตาย แทนที่จะกลับบ้านแล้วกลับไปยอมรับชะตากรรม เธอตัดสินใจเปลี่ยนทาง ตรงเข้าเมืองหลวงเพื่อเตือนคนอื่น ๆ นั่นก็เพราะ 'ความเป็นมู่หลาน' ที่เข้มแข็ง กล้าหาญนั่นแหละ และผลของการยอมรับตัวเองครั้งนี้ คือเธอได้รับรู้ว่าตัวตนของเธอไม่มีอะไรไร้ค่าแม้แต่น้อย

    สำหรับเรื่องนี้ จริง ๆ ก็มีอีกหลายประเด็นที่อยากพูดถึง (อย่างจิ้งหรีดนำโชคกับมูชู ที่ต่างก็ปลอมตัวเหมือนมู่หลาน แต่ได้รับการยอมรับตัวตนในท้ายที่สุด) แต่คิดว่าคงจะยาวเกินไป ดังนั้น เราขอจบที่ตรงนี้ก่อนนะคะ ถ้าหากเรียบเรียงตรงไหนไม่เข้าใจต้องขออภัยด้วย อีกอย่าง เรื่องนี้เป็นมุมมองของเราเท่านั้น ถ้าใครคิดเห็นอย่างไร สามารถแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ ขอบคุณค่ะ 


    ทิ้งท้าย อยากโชว์น้องคนสวย ความติ่งอ่า 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nichanart Maijan (@fb5526411320719)
ขอบคุณที่มีมุมมองที่มีต่อเรื่องมู่หลานมาแบ่งปันกันนะคะ เราเองก็เป็นคนที่อินกับเรื่องมู่หลานมาก โดยเฉพาะซีนครอบครัว บอกตามตรงว่าเสียน้ำตาทุกครั้งที่ดูจริงๆค่ะ อ่านบทความนี้จบแล้ว มีความรู้สึกอยากกลับไปดูซ้ำอีกครั้งมากเลยค่ะ : )